รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-ฟิลิปปินส์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2009 16:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการบันทึกความเข้าใจลับ (Confidential Memorandum of Understanding) ระหว่างไทย-ฟิลิปปินส์ ลงนามเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้นำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการแก้ไขปรับปรุงข้อ 5 ของความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ใบพิกัดเส้นทางบินและสิทธิความจุความถี่ต่อไป

กระทรวงคมนาคมเสนอว่า ได้จัดให้มีการเจรจาการบินระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2551 ที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือกันในเรื่องเกี่ยวกับบริการเดินอากาศระหว่างกัน โดยคณะผู้แทนทั้ง 2 ฝ่าย ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจลับ (Confidential Memorandum of Understanding) โดยลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 และคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2551 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 ได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าวแล้ว ซึ่งผลการเจรจาดังกล่าวจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของบันทึกความเข้าใจลับดังกล่าว ก่อนมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการแก้ไขปรับปรุงข้อ 5 ของความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศฯ โดยผลการเจรจาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงแก้ไขปรับปรุงในเรื่อง การกำหนดสายการบิน ใบพิกัดเส้นทางบิน และสิทธิความจุความถี่ ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้ยื่นร่างข้อบทใหม่ว่าด้วยการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน และร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่ให้ฝ่ายฟิลิปปินส์พิจารณา ซึ่งคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะนำประเด็นดังกล่าวมาหารือในการเจรจาคราวต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การกำหนดสายการบิน : ปรับปรุงข้อ 5 ของความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศเกี่ยวกับการกำหนดสายการบิน จากเดิมกำหนดให้ภาคีแต่ละฝ่ายมีสิทธิแต่งตั้งสายการบินที่

กำหนดได้ฝ่ายละไม่เกิน 2 สายการบินในแต่ละเส้นทางบินเปลี่ยนแปลงเป็น ภาคีแต่ละฝ่ายมีสิทธิแต่งตั้งสายการบินที่กำหนดได้หลายสายการบินในแต่ละเส้นทางบิน

2. ใบพิกัดเส้นทางบิน : ปรับปรุงใบพิกัดเส้นทางบินต่าง ๆ เป็นดังนี้

ก) เส้นทางบินที่ 1 ตามเส้นทางบินของฝ่ายไทยได้เปลี่ยนแปลงจุดในฟิลิปปินส์จากเดิมกำหนดไว้เป็น มะนิลาและแซมบวนกา แก้ไขเป็น มะนิลาและดาเวา สำหรับจุด

ระหว่างทางและจุดพ้นยังคงไว้เช่นเดิม เนื่องจากปัจจุบันทั้งสองฝ่ายยังใช้สิทธิการรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ไม่เต็มที่

ข) เส้นทางบินที่ 2 และ 4 คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้คงไว้เช่นเดิม

ค) เส้นทางบินที่ 3 คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงปรับปรุงเป็นดังนี้

เส้นทางบินของฟิลิปปินส์ จุดต่างๆ ในฟิลิปปินส์ ยกเว้น มะนิลาและคลาร์ก — จุดต่างๆ ในไทย

                เส้นทางบินของไทย          จุดต่างๆ ในไทย — จุดต่างๆ ในฟิลิปปินส์ ยกเว้น มะนิลาและคลาร์ก

ง) คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเพิ่มเติมเส้นทางบินอีก 1 เส้นทางเป็นเส้นทางบินที่ 5 สำหรับเที่ยวบินรับขนผู้โดยสารผสมสินค้าและเที่ยวบินรับขนเฉพาะสินค้า โดยระบุ

จุดในฟิลิปปินส์คือ เมืองคลาร์ก

                เส้นทางบินของฟิลิปปินส์        คลาร์ก — จุดต่างๆ ในไทย
                เส้นทางบินของไทย           จุดต่างๆ ในไทย — คลาร์ก

3. สิทธิความจุความถี่ : ปรับปรุงสิทธิความจุความถี่เป็นดังนี้ เส้นทางบินที่ 1 3,250 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เส้นทางบินที่ 2 2,150 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เส้นทางบินที่ 3

2,110 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เส้นทางบินที่ 4 300 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เส้นทางบินที่ 5 8,700 ที่นั่งต่อสัปดาห์ สำหรับเที่ยวบินรับขนผู้โดยสารผสมสินค้า และ 700 ตันต่อสัปดาห์

สำหรับเที่ยวบินรับขนเฉพาะสินค้า

4. ข้อบทของบันทึกความเข้าใจลับฉบับนี้จะสามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้ นับจากวันที่เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของไทยแจ้งแก่เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของฟิลิปปินส์ว่า

กระบวนการทางกฎหมายที่จำเป็นได้ดำเนินการเสร็จแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ