คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 3 (พ.ศ.2553-2560) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แล้วมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ ระยะที่ 3 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยมีข้อสังเกตดังนี้
1. วงเงินทั้งสิ้นของโครงการ 2,211,720,000 บาท จำแนกเป็นทุนการศึกษา จำนวน 1,763,200,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79.72 และค่าดำเนินการ จำนวน
448,520,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.28 ซึ่งเป็นวงเงินและอัตราทุนที่จัดสรรในเกณฑ์สูงมาก รวมทั้งยังขาดความชัดเจน จึงเห็นควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยว
ข้องพิจารณาทบทวนและจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายดังกล่าวใหม่ให้ชัดเจน สอดคล้องกับความจำเป็นและสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างประหยัด คุ้มค่าและมีประสิทธิผลสูงสุด
2. เนื่องจากโครงการระยะที่ 3 มีระยะเวลาดำเนินงานถึง 8 ปี จึงเห็นควรแบ่งดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2556 และ
ระยะที่ 4 ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2560 โดยเห็นควรให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการระยะที่ 3 ก่อนดำเนินการระยะที่ 4 เพื่อ
ให้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าและบรรลุวัตถุประสงค์ในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง
สำหรับงบประมาณรายจ่ายของโครงการ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 46,400,000 บาท ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรให้ตามความจำเป็นและเหมาะสมสอดคล้องกับกำลังเงินงบประมาณ
แผ่นดินต่อไป
กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า
1. โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2539-2547)
กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการผลิตครูหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต เวลา 4 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู เวลา 1 ปี (ระบบ4+1) และระยะที่ 2
(2548-2549) กระทรวงศึกษาธิการได้ผลิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู เวลา 1 ปี (ระบบ 1 ปี) ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาและเข้าปฏิบัติงานแล้ว จำนวน
2,637 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้เข้าปฏิบัติงานสอนในสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
(สกอ.) สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
2. จากการประเมินความก้าวหน้าของโครงการ สควค. พบว่าคุณลักษณะความเป็นครูในระบบ 4+1 ปี จะทำให้นิสิต/นักศึกษาได้รับการปลูกฝังสมรรถภาพด้านต่างๆ และ
คุณลักษณะความเป็นครูตั้งแต่ต้น จึงทำให้นิสิต/นักศึกษา มีความพร้อมที่จะออกไปเป็นครู มีความมั่นใจและมีคุณลักษณะความเป็นครูที่ดี สำหรับระบบต่อยอด 1 ปี จะเป็น
ระบบที่เปิดโอกาสให้นิสิต/นักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถที่มีความสนใจ มีใจรักในการประกอบอาชีพครูและไม่ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้นได้เข้าร่วมโครงการ เป็นการ
ประหยัดงบประมาณ และได้บุคลากรที่ต้องการจะประกอบอาชีพครูอย่างแท้จริง ทั้งสองระบบนี้จะเป็นระบบที่สร้างครูที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้ไม่แตกต่างกัน เป็น
โครงการผลิตครูที่มีคุณภาพ คือ คัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและสนับสนุนส่งเสริมให้เรียน วท.บ. ซึ่งเป็นที่มั่นใจในความเข้มทางวิชาการและต่อยอดหลักสูตร
ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูอีก 1 ปี นับว่าเป็นโครงการที่ดี ควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้ดำเนินการต่อไป
3. หากโครงการ สควค.ระยะที่ 3 ได้ดำเนินการต่อจะเป็นผลดีในการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามความขาดแคลนครูรุ่นเก่าที่จะเกษียณอายุและเป็นการประหยัดงบ
ประมาณในการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถพิเศษในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู 1 ปี และการดำเนินการผลิตครูนี้จะเป็นส่วนหนึ่ง
ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพและปริมาณปีละ 580 ทุน เมื่อสำเร็จการศึกษา ผู้ได้รับทุนจะสามารถบรรจุได้ทันที โดยกำหนดให้ผู้
สำเร็จการศึกษาได้สอนในโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 185 เขตพื้นที่ เตรียมอัตราเกษียณอายุราชการของครูในกลุ่ม
วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ในแต่ละ สพท. รองรับไว้ตามความต้องการของแต่ละเขตพื้นที่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554-2561 จำนวน 4,640 อัตรา
4. สสวท. ได้จัดประชุมพิจารณาการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 3 (พ.ศ.2553-2560) ในเรื่องการคัดเลือกหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู กิจกรรม
เสริมความเป็นครู การบรรจุเข้ารับราชการครู และการติดตามผลและพัฒนาครู สควค. โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพฐ. สกอ. สำนักงานคณะกรรมการข้า
ราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 3 (พ.ศ.2553-2560)
5. สสวท. ร่วมกับ สพฐ. และ สกอ. จึงได้จัดทำโครงการ สควค. ระยะที่ 3 เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความ
สามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 25/1/2550 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) เป็นประธาน ซึ่งที่
ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ สควค. ระยะที่ 3 ทั้งนี้ ให้วิเคราะห์ผลการดำเนินงานของโครงการ สควค. ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และมติคณะรัฐมนตรี
(8 พฤษภาคม 2550) มาพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 ด้วย
6. โครงการ สควค. ระยะที่ 3 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
6.1 เป็นโครงการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาขาดแคลนต่อเนื่องจากระยะที่ 1 และ 2 ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา โดยคัดเลือกผู้ที่จบ วท.บ.
สาขาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ และมีความศรัทธาในวิชาชีพครู เข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการสอนใช้เวลาศึกษาไม่น้อย
กว่า 1 ปี มีการประเมินเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเมื่อจบการศึกษา ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันคุณภาพผลผลิตของบัณฑิตครูที่จะเข้าประกอบวิชาชีพครูต่อไป
6.2 มีแนวทางการสร้างแรงจูงใจที่เป็นรูปธรรม โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูแล้วจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราวและได้รับการ
บรรจุเข้ารับราชการครูทันที เมื่อรับราชการครบ 1 ปี และผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เมื่อบรรจุเข้ารับราชการแล้วและ
ปฏิบัติงานครบ 2 ปี จะได้รับทุนศึกษาต่อปริญญาโททุกคน
6.3 เป้าหมายเชิงปริมาณ คือผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2560 รวม 8 ปี ปีละ 580
คน จำนวน 4,640 คน
6.4 เป้าหมายเชิงคุณภาพ คือได้ครูที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการและวิชาชีพ มีจิตวิญญาณในการเป็นครู และมีความสามารถทางการวิจัยและพัฒนาด้านการเรียนการ
สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
6.5 ระยะเวลาดำเนินการในช่วงปีการศึกษา 2553-2564 โดยให้ทุนการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู พ.ศ. 2560 เป็นปีสุดท้ายและระดับปริญญาโท
พ.ศ. 2564 เป็นปีสุดท้าย
6.6 หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สกอ. สพฐ. และ สสวท.
6.7 การบริหารโครงการฯ ดำเนินการในรูปคณะกรรมการ 3 คณะดังนี้ คณะที่ 1 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ
ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับอุดมศึกษา ระดับ
ประเทศ คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับหลังสำเร็จการศึกษา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มิถุนายน 2552 --จบ--