ร่างพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 10:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอตามรายงานของกรมชลประทานว่า กฎหมายว่าด้วยการชลประทานราษฎร์มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และเพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายประจำปี 2551 สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันในเรื่องเกี่ยวกับ การเกณฑ์แรงงานเพื่อรองรับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแนวนโยบายของรัฐ และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของกรมชลประทาน และได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ยกเลิกบทนิยามคำว่า “การชลประทาน” “การชลประทานส่วนบุคคล” “การชลประทานส่วนราษฎร” “การชลประทานส่วนการค้า” และ “เจ้าพนักงาน” ตามพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พุทธศักราช 2482 และกำหนดความหมายของบทนิยามดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้ชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดบทนิยามเพิ่มเติม “คณะกรรมการชลประทานราษฎร์จังหวัด” “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” และ “เกษตรกรรม” เพื่อให้ครอบคลุมเป็นปัจุบัน (ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดให้คณะกรรมการชลประทานราษฎร์จังหวัดมีอำนาจสั่งปิดหรืองดใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของการชลประทานได้ชั่วคราว หรือสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อชักน้ำไปใช้ในการนั้นได้ (ร่างมาตรา 6 แก้ไขมาตรา 5)

4. กำหนดให้คณะกรรมการชลประทานราษฎร์จังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการ อัยการจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำภาคในพื้นที่ เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการโครงการชลประทานประจำจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน (ร่างมาตรา 7 เพิ่มเติมมาตรา 5 ทวิ)

5. กำหนดหลักเกณฑ์การทำชลประทานส่วนบุคคลต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เว้นแต่การทำประโยชน์แก่เนื้อที่ไม่เกินห้าสิบไร่ หรือเป็นการกระทำชั่วครั้งชั่วคราว การอนุญาตเนื้อที่ไม่เกินห้าร้อยไร่ให้นายอำเภอแห่งท้องที่เป็นผู้อนุญาต เนื้อที่ไม่เกินหนึ่งพันไร่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุญาต และเนื้อที่เกินกว่าหนึ่งพันไร่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้อนุญาต (ร่างมาตรา 9 แก้ไขมาตรา 7)

6. กำหนดให้การจัดทำชลประทานส่วนบุคคล ถ้ามีความจำเป็นก็อาจทำทางน้ำผ่านที่ดินของบุคคลอื่นได้เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน แต่ต้องชดใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดิน กรณีจำนวนเงินค่าทดแทนไม่อาจตกลงกันได้ ผู้ขออนุญาตอาจร้องขอต่อคณะกรรมการชลประทานราษฎร์จังหวัดเป็นผู้กำหนด และการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนแล้วเจ้าของที่ดินไม่ยอมรับเงินค่าทดแทน ไม่ตัดสิทธิเจ้าของที่ดินที่จะฟ้องเรียกเงินส่วนที่ตนเห็นว่าควรจะได้รับภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้วางเงินต่อศาล (ร่างมาตรา 13 แก้ไขมาตรา 10 ทวิ)

7. แก้ไขปรับปรุงโดยตัดเรื่องการเกณฑ์แรงงานและเครื่องอุปกรณ์การชลประทานส่วนราษฎรออก เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในเรื่องห้ามการเกณฑ์แรงงาน และสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง (ร่างมาตรา 16 ยกเลิกมาตรา 14,15,16, และ 17 และร่างมาตรา 21 ยกเลิกมาตรา 24 มาตรา 25 และมาตรา 26)

8. กำหนดให้ผู้ขอสัมปทานทำการชลประทานส่วนการค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแบบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 23 แก้ไขมาตรา 31)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ