การขยายระยะเวลารับจำนำมันสำปะหลังจังหวัดระยอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 10:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายระยะเวลาการรับจำนำให้จังหวัดระยองเป็นกรณีพิเศษ จากเดิม “สิ้นสุดวันที่ 16 พฤษภาคม 2552” เป็นสิ้นสุด “วันที่ 31 สิงหาคม 2552” ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้เดิม โดยให้จังหวัดจัดหาลานมัน/โรงแป้ง เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม เพื่อสามารถดำเนินการรับจำนำได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องจำนำข้ามจังหวัด หรือต้องจัดหาลานมัน/โรงแป้งจากจังหวัดอื่นเข้าไปดำเนินการ ให้จังหวัดพิจารณาหักลดค่าขนส่งจากราคารับจำนำ หรือจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งให้แก่ลานมัน/โรงแป้งในอัตราที่เหมาะสม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ผลการรับจำนำทั้งประเทศ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2552 มีปริมาณรับจำนำหัวมันสด 11.667 ล้านตัน แปรรูปเป็นมันเส้นประมาณ 3.404 ล้านตัน (ส่งมอบโกดังกลางแล้ว 3.153 ล้านตัน) แป้งมัน 0.810 ล้านตัน (ส่งมอบโกดังกลางแล้ว 0.535 ล้านตัน)

2. การดำเนินการรับจำนำในจังหวัดระยอง

1) อคส. ได้ประกาศรับสมัครผู้ประกอบการ เพื่อจ้างแปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดของเกษตรกร ซึ่งนำมาฝากกับ อคส. ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2551/52 ตามประกาศองค์การคลังสินค้า เรื่อง การรับสมัครเป็นลานมัน/โรงแป้ง เพื่อเข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2551/52 มีผู้ประกอบการลานมันในจังหวัดระยองแจ้งความจำนงขอเข้าร่วมโครงการฯ รวม 4 ราย แต่ปรากฏว่าลานมันทั้ง 4 ราย ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ เนื่องจากมีลานมัน 1 รายเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2540 โดยลานมันอีก 3 รายที่เหลือเป็นผู้ค้ำประกัน แล้วมันเส้นโครงการฯ สูญหาย อคส. ได้ฟ้องดำเนินคดี ซึ่งศาลพิพากษาให้ลานมันทั้ง 4 ราย เป็นลูกหนี้ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ อคส. ขณะนี้ลานมันอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

2) กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าร่วมโครงการกับ อคส. โดย อคส. ได้หารือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นว่า อบจ. และ อบต. มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเห็นว่า อบจ. และ อบต. จะสมัครเข้าร่วมโครงการในฐานะผู้ประกอบการแปรสภาพมันสำปะหลังสด นั้นไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ. และอบต. รวมทั้งกรณีดังกล่าวอาจมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 84 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

3) กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความเห็นตามข้อ 2) ว่าเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ อย่างไร หากกรณีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ. แต่เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพิ่มเติมว่า อคส. จะมอบหมายให้ อบจ. ไปดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องนี้โดยตรง เช่น เป็นผู้รับจำนำหัวมันสำปะหลังแทน อคส. จะกระทำการได้หรือไม่ เพียงใด และกระทรวงพาณิชย์ได้ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า อบจ. ระยอง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะสามารถดำเนินงานในฐานะ ผู้รับจ้างแปรสภาพหัวมันสำปะหลังสด โดยได้รับค่าจ้างจาก อคส. ได้หรือไม่

4) คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณาโดยสรุปว่า อบจ. หรือ อบต. ไม่อาจเป็นผู้รับจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง และไม่อาจรับจำนำหัวมันสำปะหลังแทน อคส. รวมถึงไม่อาจรับจำนำมันสำปะหลังได้

5) จังหวัดระยอง และ อคส. สามารถจัดหาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ 1 ราย โดยเริ่มรับจำนำมันสำปะหลังจากเกษตรกรตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2552 เพียงประมาณวันละ 130 ตัน และภายหลังสามารถจัดหาผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 1 ราย โดยเริ่มรับจำนำเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 วันละประมาณ 200 ตัน

6) จังหวัดระยองได้รับการจัดสรรปริมาณรับจำนำ 59,254 ตัน ผลการรับจำนำ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2552 มีเกษตรกรที่จำนำผลผลิตแล้ว 576 ราย ปริมาณรับจำนำ 5,799 ตัน ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่จดทะเบียนกับสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง 1,433 ราย พื้นที่เพาะปลูก 46,691 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 344,763 ตัน (ตัดยอด ณ วันที่ 30 เมษายน 2552)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ