คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอทั้ง 4 ข้อ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ของประเทศไทย ดังนี้
สถานการณ์ A : มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศและเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
เป้าหมายการดำเนินงาน : เน้นการป้องกันการเผยแพร่เชื้อในประเทศ
ยุทธศาสตร์หลัก
1) คัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ
2) เฝ้าระวังโรคค้นหาผู้ป่วยภายในประเทศ
3) ดูแลรักษา พยาบาล ผู้ป่วย อย่างมีประสิทธิภาพ
4) เฝ้าติดตามผู้สัมผัสโรค เพื่อป้องกันและควบคุมโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที
5) สุขศึกษา ประชาสัมพันธ์ ทั้งด้านการสื่อสารความเสี่ยงและวัฒนธรรมสุขภาพที่ดีในการป้องกันตนเองและลดการแพร่กระจายเชื้อ
6) เตรียมพร้อมเข้าสู่สถานการณ์ B ที่อาจมีการระบาดเกิดขึ้นภายในประเทศ
สถานการณ์ B: มีการแพร่ระบาดในประเทศในวงจำกัด
เป้าหมายการดำเนินงาน : มุ่งควบคุมการระบาดในประเทศให้อยู่ในวงแคบที่สุด
ยุทธศาสตร์หลัก
1) เฝ้าระวังโรค ค้นหาผู้ป่วย เฝ้าติดตามผู้สัมผัสโรค
2) ดูแลรักษา พยาบาล ผู้ป่วย และแนะนำการดูแลตนเองที่บ้าน ในกรณีผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง หรือแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้
3) สุขศึกษา ประชาสัมพันธ์ ทั้งด้านการสื่อสารความเสี่ยงและวัฒนธรรมสุขภาพที่ดีในการป้องกันตนเองและลดการแพร่กระจายเชื้อ
4) เน้นมาตรการด้านชุมชนและสังคม ในการป้องกันควบคุมโรค เช่น ส่งเสริมอนามัยบุคคลให้สุขศึกษา ประชาสัมพันธ์ จำกัดการเดินทาง แยกกักผู้สัมผัสโรค จำกัดการชุมนุม
5) เตรียมพร้อมเข้าสู่สถานการณ์ C
สถานการณ์ C : มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง ภายในประเทศ
เป้าหมายการดำเนินงาน : ให้ความสำคัญต่อบรรเทาความรุนแรง และลดผลกระทบของการระบาดในประเทศ
ยุทธศาสตร์หลัก
1) ดูแลรักษา พยาบาล ผู้ป่วย และแนะนำการดูแลตนเองที่บ้าน ในกรณีผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ สุขศึกษา ประชาสัมพันธ์ เสริมสุขภาพจิต
2) เน้นมาตรการด้านชุมชนและสังคม ในการป้องกันควบคุมโรค เช่น ส่งเสริมอนามัยบุคคลให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ จำกัดการเดินทาง แยกกักผู้สัมผัสโรค จำกัดการชุมนุม
3) ดูแลระบบสาธารณูปโภคและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตพื้นฐานให้สามารถดำรงอยู่ได้โดยประชาชนมีวิถีชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด
การเตรียมความพร้อมและดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ของประเทศไทย จะต้องทำพร้อมกันในหลายด้าน ได้แก่ ด้านการประสานสั่งการ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการสร้างเสริมพฤติกรรมและวัฒนธรรมสุขภาพ ด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ด้านการรักษาความเรียบร้อยและบรรเทาทุกข์ ด้านการประสานความร่วมมือพหุภาคี และต่างประเทศ ด้านการประคองกิจการภายในองค์กร ด้านการคมนาคมขนส่ง และการข้ามแดน และด้านการปศุสัตว์
ทั้งนี้ การป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะได้ผลดีเพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในประเทศ ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วประเทศ
2. ขอความร่วมมือหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น1) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ของประเทศไทย รวมถึงการทำแผนประคองกิจการภายในองค์กรและ ซ้อมแผนดังกล่าว
3. ขอความร่วมมือหน่วยราชการดำเนินการสนับสนุนการดำเนินงาน ตามข้อ 2 เพื่อเร่งรัดการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้ทันกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีโอกาสอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของไข้หวัดใหญ่ เช่น
- กระทรวงศึกษาธิการ จัดการรณรงค์ส่งเสริมการป้องกันโรค ในช่วงระยะเปิดภาคเรียนใหม่ ให้
- กระทรวงแรงงาน จัดการรณรงค์ส่งเสริมการป้องกันโรคในโรงงานทั่วประเทศ ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า
- กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำแผนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1)
4. ขอความร่วมมือให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ของประเทศไทย ต่อคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์) เป็นประธาน เป็นประจำทุกเดือน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2552 --จบ--