ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 05:00 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติ

บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอว่า

1. สำนักงาน ก.พ. ได้ขอให้พิจารณากำหนดให้ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ประธาน ก.พ.ค.) กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กรรมการ ก.พ.ค.) กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการววินิจฉัยร้องทุกข์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542

2. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 24 บัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ประกอบด้วย กรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และให้กรรมการ ก.พ.ค. ต้องทำงานเต็มเวลา มาตรา 29 บัญญัติให้กรรมการ ก.พ.ค. มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว และมาตรา 31 บัญญัติให้ ก.พ.ค. มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ และตามระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ข้อ 4 กำหนดให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีและต้องทำงานเต็มเวลา

3. จากข้อเท็จจริงตามข้อ 2 การเข้าสู่ตำแหน่งและวาระการดำรงตำแหน่งของประธาน ก.พ.ค. กรรมการ ก.พ.ค. กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ มีลักษณะทำนองเดียวกับประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาบัญญัติให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว สมควรกำหนดให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค. กรรมการ ก.พ.ค. กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ