ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 10/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 13:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 10/2552 เมื่อวันพุธที่ 10 มิถุนายน 2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจในข้อ 1.2 ข้อ 2.2 และข้อ 3.3 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

1. กรอบการติดตามและประเมินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 1 (สศช.) สศช. ได้จัดทำกรอบการติดตามและประเมินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 1 โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จของการดำเนินงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 สรุปสาระสำคัญดังนี้

1.1 สาระสำคัญ

1.1.1 หลักการและเหตุผล จากการที่แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการเร่งสร้างรายได้และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน ผู้ว่างงาน และผู้ประกอบการทั้งในด้านการท่องเที่ยวและนักลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนเพื่อให้มีการจ้างงานและโอกาสทางเศรษฐกิจในสาขาต่อเนื่องอื่นๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและป้องกันไม่ให้ปัญหาการว่างงานและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงซึ่งได้ดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว และรัฐบาลได้มีการติดตามความ ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องกำหนดกรอบการติดตามและประเมินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเศรษฐกิจ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ ตัวชี้วัด และแนวทางการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติและรายงานให้ฝ่ายเลขานุการ รวบรวม ประมวลและสรุปผล เพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจทราบต่อไป

1.1.2 กรอบการประเมิน จะประเมินมาตรการ/โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มมาตรการ ได้แก่ (1) การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร (2) มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน (3) มาตรการภาษี (4) มาตรการลดค่าธรรมเนียมและ อื่น ๆ (5) โครงการภายใต้งบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 (6) การเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และ (7) ผลกระทบในภาพรวม

1.1.3 หลักเกณฑ์การติดตามและประเมินและการกำหนดตัวชี้วัด เป็นการติดตามและประเมินผลสำเร็จการดำเนินงานรายมาตรการ/โครงการ โดยการกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดผลผลิตในเชิงปริมาณ ซึ่งจะกำหนดเป็นหน่วยนับและ/หรือร้อยละของผลผลิต และหรือจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ได้ประโยชน์ เพื่อสามารถนำมาแปลงค่าหรือคำนวณเป็นผลกระทบทั้งในระดับกลุ่มมาตรการ/โครงการ และผลกระทบในภาพรวม โดยจัดทำรายละเอียดเป้าหมายตัวชี้วัดและเก็บข้อมูลเป็นรายเดือน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบติดตามผลรายเดือน และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

1.1.4 วิธีการดำเนินงาน แบ่งเป็น

1) การเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติจากหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการดำเนินมาตรการ/โครงการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาจัดทำตัวชี้วัดและการติดตามประเมินผล

2) การสำรวจข้อมูลภาคสนาม เป็นการสำรวจข้อมูลจากผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง เช่น โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพบุคลากรภาครัฐและประชาชน (เช็คช่วยชาติ) โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน และโครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพด้านการเดินทางและการอุปโภคบริโภค เป็นต้น ซึ่งอาจมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการสำรวจ

1.2 มติคณะกรรมการ รศก.

1.2.1 มอบหมายให้ สศช. จัดเตรียมแบบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1 เพื่อใช้ในการติดตามผลการดำเนินการและการประเมินผล โดยประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ (1) การบริหารจัดการ (2) ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดต่อระบบเศรษฐกิจและข้อสังเกตของฝ่ายเลขานุการ และ (3) ผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนจากการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1

1.2.2 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานข้อมูลความก้าวหน้าและผลการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1 ตามแบบรายงานที่ สศช. กำหนด และจัดส่งให้ สศช. ตามระยะเวลาที่ สศช. จะกำหนด เพื่อใช้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

2. การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (กระทรวงการคลัง) กระทรวงการคลังรายงานผลการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการแล้ว ความคืบหน้าในการดำเนินการ และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

2.1 สาระสำคัญ

2.1.1 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มทุนจำนวน 2,000 ล้านบาท จะทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ระดับร้อยละ 12.35 ซึ่งใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ซึ่งหากไม่ได้รับการเพิ่มทุนจะทำให้ BIS Ratio ร้อยละ 10.9

2.1.2 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ได้รับการอนุมัติให้เพิ่มทุนจำนวน 5,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับเงินเพิ่มทุน ทำให้ไม่สามารถขยายบริการรับประกันการส่งออกยังไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้มียอดเงินคงค้างที่จะสามารถประกันการส่งออกได้ ประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับเงินเพิ่มทุนก็จะทำให้สามารถขยายบริการรับประกันการส่งออกได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ประมาณ 150,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธสน. ยังไม่สามารถถ่ายเทความเสี่ยงให้กับบริษัทประกันได้ (Reinsurance) โดยบริษัทประกัน และ ธสน. รับความเสี่ยงในสัดส่วนร้อยละ 30 และ 70 ของ Portfolio ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดี ธสน. ก็ยังคงดำเนินมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการรับประกันให้กับผู้ส่งออกอยู่ในขณะนี้

2.1.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งปี 2552 ธอส. มีเป้าหมายขยายสินเชื่อ 74,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการให้สินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ และโครงการการปรับลดดอกเบี้ยผู้มีรายได้ต่ำ

2.1.4 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวน 2,500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังมีประเด็นปัญหาสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงหรือประมาณร้อยละ 52 ซึ่งหากไม่ได้รับการเพิ่มทุน ก็จะทำให้ BIS Ratio เหลือเพียงร้อยละ 6.75 และเมื่อเพิ่มทุนจะทำให้ BIS Ratio เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.8 ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ก็ทำให้ ธพว. สามารถดำเนินนโยบายต่อไปได้

2.1.5 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งการให้สินเชื่อตามโครงการ Portfolio Guarantee Scheme เป้าหมาย 30,000 ล้านบาท ยังคงมีความล่าช้า โดยที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 สามารถให้สินเชื่อได้เพียง 80 ล้านบาท มีผู้ได้รับค้ำประกันเพียง 22 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการวิเคราะห์ถึงปัญหาของโครงการนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการมีเพียง 3 ธนาคาร ซึ่งน้อยมาก ทั้งนี้ เกิดจากปัญหาการจัดระบบของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับโครงการนี้และการทำความเข้าใจกฎกติกาไปยังระดับสาขายังล่าช้า ทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการน้อยมาก นอกจากนี้ บสย. ยังไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการการชำระภาษีนิติบุคคล เนื่องจากเงื่อนไขระยะเวลาการให้สินเชื่อและขั้นตอนกับช่วงเวลาการชำระภาษีไม่สอดคล้องกัน

2.1.6 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จำนวน 6,000 ล้านบาท เนื่องจาก ธอท. มีแนววิธีการดำเนินธุรกิจในลักษณะร่วมลงทุน ทำให้มีส่วนทุนจำกัด รวมทั้งดำเนินการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,210 ล้านบาท ประกอบกับวงเงินให้สินเชื่อปัจจุบัน ยังไม่รวมโครงการของภาครัฐ มีจำนวน 7,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เกินกว่าเป้าหมายการให้สินเชื่อ ซึ่งเกินจากเป้าหมายปี 2552 ที่กำหนดวงเงินสินเชื่อไว้ 5,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องเพิ่มทุน

2.1.7 สำหรับการสินเชื่อในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งรับช่วงต่อจากการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (โครงการเงินกู้ Soft Loan) ปัจจุบัน ธอท. ได้ให้สินเชื่อวงเงิน 500 ล้านบาท และเป็นส่วนสินเชื่อโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2553 ประมาณ 21,000 ล้านบาท ซึ่ง ธอท. ได้มีนโยบายรองรับการให้สินเชื่อในส่วนที่เหลือไว้แล้วหากได้รับสนับสนุนเงินทุนจากรัฐ และกระทรวงการคลังได้สำรองเงินทุนโครงการไทยเข้มแข็งไว้แล้ว ขณะนี้กำลังพิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบวิธีการการให้สินเชื่อดังกล่าว

2.2 มติคณะกรรมการ รศก.

2.2.1 รับทราบการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินของรัฐซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายหลังจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว

2.2.2 มอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐ ดังนี้

1) ติดตามการทบทวนขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก เพื่อให้สามารถขยายสินเชื่อให้แก่ผู้

ประกอบการส่งออกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

2) ติดตามการจัดหาเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนเพิ่มเติมสำหรับสนับสนุนธุรกิจใน 5 จังหวัดภาคภาคใต้ เพื่อให้ผู้ประกอบ

การใน 5 จังหวัดภาคใต้สามารถเข้าถึงสินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

3) ติดตามการทบทวนเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้สามารถค้ำ

ประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการได้ตามเป้าหมาย

4) เร่งรัดการดำเนินการของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในการสินเชื่อเพื่อการศึกษาร่วมกับธนาคารอิสลามแห่ง

ประเทศไทย เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการศึกษาได้อย่าง

มีประสิทธิภาพ

3. แนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการ รศก. ในระยะต่อไป

3.1 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินการมาเป็นลำดับ ประกอบกับในระยะต่อไป เมื่อโครงการต่างๆ ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการแล้ว ควรมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการให้คณะกรรมการ รศก. ทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถเร่งรัดการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.2 ขณะนี้ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในด้านการเงิน การคลัง ที่ผ่านมา ได้เริ่มนำไปสู่การปฏิบัติแล้ว จึงควรนำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาท่าอากาศยานและระบบรางโครงสร้างกิจการพลังงาน การพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยุคที่ 3 (3G) และการให้บริการสาธารณะต่างๆ เป็นต้น เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ รศก. ด้วย เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

3.3 มติคณะกรรมการ รศก.

3.3.1 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ให้คณะกรรมการ รศก. ทราบเป็นประจำต่อไป

3.3.2 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้คณะกรรมการ รศก. พิจารณาต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ