ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) ครั้งที่ รชต 2/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 14:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) ครั้งที่ รชต 2/2552 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. ผลการพิจารณาและมติคณะกรรมการ รชต. ครั้งที่ รชต. 2/2552

1.1 แนวทางการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2553 ตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุมได้มีความเห็นและมีมติ ดังนี้

(1) ประธานได้ให้แนวทางการพิจารณางบประมาณปี 2553 ว่าควรยึดหลักการพิจารณาให้โครงการต่าง ๆ ตามแผน ได้รับการจัดสรรงบประมาณได้ครบถ้วนหรือใกล้เคียงกับวงเงินตามแผนที่กำหนดไว้ในปี 2553 จำนวน 18,259.81 ล้านบาท ให้มากที่สุด โดยต้องใช้เกณฑ์การพิจารณาตามความแตกต่างของแหล่งเงิน เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ต้องเป็นไปตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ ซึ่งการเปลี่ยนโครงการที่กำหนดไว้แล้วจะทำได้ยาก จึงควรจัดโครงการที่มีลักษณะต้องตั้งงบประมาณเป็นประจำทุกปี เช่น ทุนการศึกษา เพราะมีความแน่นอนกว่า ขณะที่เงินกู้ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะมีความคล่องตัวกว่างบประมาณแผ่นดิน จึงควรจัดโครงการประเภทลงทุน เช่น โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไว้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

มติคณะกรรมการ รชต. มอบให้ฝ่ายเลขานุการ รชต. รับความเห็นที่ประชุมไปเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาทบทวนและยืนยันโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งร่วมกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง แล้วเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง รอบที่ 2 ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2552

1.2 มาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ประชาชน และการให้สิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลการดำเนินการตามมติ รชต. เมื่อ 25 มีนาคม 2552 สรุปได้ดังนี้

(1) มาตรการที่ได้ข้อยุติแล้ว แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

(1.1) กลุ่มมาตรการทางด้านภาษี การลดหย่อนค่าธรรมเนียม และการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ให้มีการขยายออกไปอีก 3 ปี คือตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึง 31 ธันวาคม 2555 ได้แก่

  • มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บจาก

กำไรสุทธิเหลืออัตราร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสถานประกอบการที่ก่อให้

เกิดรายได้ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

  • มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มี

สถานประกอบการที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจให้สามารถเลือกนำเงินได้พึงประเมิน

ตามมาตรา 40 (7) และ (8) มาคำนวณในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดเงินได้พึงประเมิน

  • มาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการ

ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากรในเขตพัฒนา

พิเศษเฉพาะกิจจากอัตราร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 0.1 ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

  • มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียม ให้กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและ

นิติกรรม และลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง

อสังหาริมทรัพย์และห้องชุด ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือร้อยละ 0.01

  • มาตรการลดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ลดหย่อนค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง

และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัท จำกัด ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจลงกึ่งหนึ่งของอัตรา

ปกติ

  • มาตรการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัย ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิ

ประกันภัย (ศปภ.) สนับสนุนส่วนต่างของเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษ

เฉพาะกิจ ระหว่างร้อยละ 0.3 — ร้อยละ 2 (เดิมชดเชยระหว่างร้อยละ 0.5 — ร้อยละ 2) โดยรัฐตั้ง

งบประมาณสนับสนุน 20 ล้านบาทต่อปี ต่อจากเดิมที่สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ออกไปอีก 3 ปี

ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ถึง 31 ธันวาคม 2555

(1.2) กลุ่มมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ตามมติ ครม. เมื่อ 25 ธันวาคม 2550 ซึ่งได้สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2552 ให้มีการขยายต่อไปอีก 3 ปี ตั้งแต่ 1 เมษายน 2552 — 31 มีนาคม 2555 คือ มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ให้ความช่วยเหลือพักชำระหนี้เกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธกส. ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ธกส. จะเป็น ผู้รับภาระดอกเบี้ยแทนในส่วนของเงินต้นที่ไม่เกิน 200,000 บาท ในปีแรก และรัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยค่าดอกเบี้ยในปีที่ 2 และ 3 สำหรับดอกเบี้ยในส่วนที่เงินต้นเกิน 200,000 บาท ให้เกษตรกรรับภาระเอง โดยมอบให้ ธกส. นำไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป

(2) มาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ประกอบด้วย

(2.1) มาตรการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน ให้ดำเนินการดังนี้

  • ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เร่งพิจารณาให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับอนุญาตให้หัก

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และประปา 2 เท่า เป็นเวลาจาก 10 ปี เป็น 15 ปี โดยนำเสนอ

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาให้เกิดผลปฏิบัติโดยเร็ว

  • ให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับ สศช. และ BOI พิจารณากำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น

เขตส่งเสริมการลงทุนพิเศษที่ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าพื้นที่อื่น และนำเสนอ รชต. พิจารณาในการประชุม

ครั้งต่อไป

(2.2) มาตรการสินเชื่อผ่อนปรน ให้มีมาตรการสินเชื่อผ่อนปรน (ร้อยละ 1.5) ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โดยมอบให้กระทรวงการคลังหารือร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3 แห่ง คือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งได้ให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามในพื้นที่อยู่แล้วให้ขยายบริการได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยกำหนดแผนงาน เป้าหมายให้บริการและวิธีดำเนินการของมาตรการให้ชัดเจน เพื่อให้มีผลปฏิบัติโดยเร็วและนำเสนอให้ รชต. พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

(2.3) มาตรการรับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ให้กระทรวงแรงงานพิจารณามาตรการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเป็นพิเศษแตกต่างจากพื้นที่อื่น โดยเฉพาะการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขพิเศษเป็นการเฉพาะสำหรับการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

(2.4) มาตรการหลักประกันสังคมสำหรับแรงงาน ให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการลดค่าประกันสังคมของลูกจ้างและนายจ้างลง ซึ่งเป็นมาตรการทั้งประเทศให้เกิดผลปฏิบัติโดยเร็ว นอกจากนี้ควรกำหนดให้มีมาตรการพิเศษที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หารือในรายละเอียดกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.)

(2.5) มาตรการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้าย เห็นควรให้กระทรวงการคลังไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมให้รัฐบาลสามารถซื้อประกันภัยก่อการร้ายเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

(3) ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นต่อมาตรการต่างๆ สรุปได้ดังนี้

(3.1) มาตรการสินเชื่อผ่อนปรน ควรให้ธนาคารออมสินทำหน้าที่แทนธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ จำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยกู้ในอัตราผลตอบแทน ร้อยละ 0.1 แล้วปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการในอัตราผลตอบแทน ร้อยละ 1.5 สำหรับส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนปกติของธนาคารออมสินกับอัตราร้อยละ 0.1 ให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยใช้งบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

(3.2) มาตรการการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในสาขาการประมงควรแยกเป็นการเฉพาะให้สอดคล้องกับเงื่อนไขเวลา และพื้นที่ เนื่องจากแรงงานประมงต้องออกทะเลนานถึง 8 เดือน

(3.3) มาตรการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมจะสนับสนุนเงินลงทุนจากกองทุนประกันสังคมที่ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อเป็นสินเชื่อผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม และผู้ประกันตนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท

(3.4) มาตรการการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน ปลัดกระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นว่าควรวางกรอบความคิดเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกำหนดให้กิจกรรมการผลิตหลัก 5 ดาวเด่นที่จะส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการพัฒนาในระบบ Cluster ได้แก่

  • การประมง จำเป็นต้องขยายน่านน้ำเพื่อทำการประมง ยกระดับการผลิตให้มากขึ้น ลดต้นทุนการผลิต และ

สร้าง Brand ให้กับสินค้าประมงไทย

  • ปาล์มน้ำมัน ต้องส่งเสริมการปลูกปาล์มพันธุ์ดี ตั้งโรงงานแปรรูปปาล์มน้ำมันในพื้นที่ให้มากขึ้น และส่งเสริม

การผลิต ไบโอดีเซล เพื่อเป็นพลังงานทดแทน

  • ยางพารา เพิ่มผลผลิตยางพาราต่อไร่ ส่งเสริมโรงงานผลิตภัณฑ์ยางพารา และจัดตั้งตลาดกลางซื้อขาย

ยางพาราให้ทั่วถึง

  • การท่องเที่ยว จัดระเบียบการท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวผสมผสาน

ทั้งวิถีพุทธ และวิถีมุสลิม

  • สินค้าฮาลาล ส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าฮาลาล สร้างมาตรฐานฮาลาล สร้าง Brand และ

ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการจากประเทศตะวันออกกลาง

สำหรับมาตรการสิทธิประโยชน์การลงทุน ประธานที่ประชุมมีความเห็นว่า หากเรื่องใดที่เป็นอำนาจหน้าที่ของ BOI ก็ควรให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนรับไปพิจารณา ส่วนเรื่องที่นอกอำนาจหน้าที่ของ BOI ให้นำเสนอ รชต. พิจารณา รวมทั้งให้พิจารณาใช้ประโยชน์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในการเป็นแหล่งระดมเงินทุนโดยเฉพาะการออกพันธบัตรอิสลาม นอกจากนี้เรื่องการผลิตสินค้าฮาลาล ควรประสานความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียในลักษณะที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

มติคณะกรรมการ รชต.

1. ให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการพิเศษที่ได้ข้อยุติแล้ว 7 มาตรการ ตามข้อ 1.2 1) เพื่อช่วยเหลือนักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 ปี สิ้นสุดในปี 2555 และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ เพื่อให้มาตรากรดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติภายในเดือนกรกฎาคม 2552

2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นของที่ประชุมประกอบการพิจารณากำหนดแนวทาง วิธีการ และรายละเอียดของมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือนักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ อยู่ระหว่างการพิจารณา 5 มาตรการ ตามข้อ 1.2 2) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2552 เพื่อนำเสนอให้ รชต. พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

3. ให้ความเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2553 — 2555 ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ปีละ 20 ล้านบาท โดยให้ กอ.รมน. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

1.3 การปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างพนักงานราชการตามกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 — 2555) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นและมีมติดังนี้

(1) ที่ประชุมมีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการจากที่ได้รับอนุมัติให้จัดจ้างได้เฉพาะการทดแทนลูกจ้างประจำที่มิใช่ลักษณะการจ้างเหมาบริการที่ยุบเลิกไป เพื่อเปลี่ยนให้เป็นอัตราพนักงานราชการเพิ่มใหม่ในสถาบันอาชีวศึกษาจำนวน 1,140 คน และการบรรจุคุรุทายาทเป็นพนักงานราชการ จำนวน 30 คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการขยายกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ ส่วนการขอเปลี่ยนแปลงสถานภาพให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานราชการจำนวน 206 อัตรา สามารถดำเนินการได้โดยจะต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.)

มติคณะกรรมการ รชต. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาเสนอเรื่องการปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างพนักงานราชการ ปีงบประมาณ 2552-2555 ให้คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

1.4 โครงการเพิ่มกรอบอัตรากำลังพลสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเพื่อรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นและมีมติ ดังนี้

ที่ประชุมมีความเห็นว่า 1) การเพิ่มกรอบอัตรากำลังพล อ.ส. เพื่อรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในชุมชนศูนย์กลางและเมืองชายแดนที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นจะมีผลกระทบทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินและโดยเฉพาะผลกระทบด้านจิตวิทยามวลชนอย่างมาก และ 2) ควรมีการบูรณาการเพื่อลดความซ้ำซ้อนกับโครงการชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่เมืองของ กอ.รมน. ภาค 4 ที่เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เป็นอาสาสมัครแจ้งเหตุ และสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เมืองของจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา รวมทั้งควรพิจารณาเพิ่มจำนวนอัตรากำลังตามความจำเป็นด้านสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยและความเหมาะสมต่อขนาดพื้นที่และประชากรของแต่ละเมืองที่แตกต่างกันเพื่อลดภาระด้านงบประมาณ

มติคณะกรรมการ รชต. เห็นชอบในหลักการโครงการเพิ่มกรอบอัตรากำลังพลสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเพื่อรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยปรับเพิ่มงบประมาณในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 ของสภาผู้แทนราษฎร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ