การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 14:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ปี 2552 ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัย การฟื้นฟูบูรณะสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ชำรุดเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม รวมทั้งการประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้

1. จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มปี 2552 กระทรวงมหาดไทย ขึ้น ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน องค์กร และมูลนิธิภาคเอกชน โดยมีอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการและเลขานุการ

2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มระดับจังหวัด และให้อำเภอ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ ฯ ขึ้นเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ ฯ ให้ดำเนินการ ดังนี้

2.1 ด้านการเตรียมการ (ก่อนเกิดภัย)

(1) ตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม รวมทั้งข้อมูลพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรองรับการอพยพให้เป็นปัจจุบัน

(2) จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ระดับจังหวัด โดยกำหนดระบบบัญชาการเหตุการณ์ วิธีการปฏิบัติ ขั้นตอนการปฏิบัติ บุคลากร และหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยให้จัดวางระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย รวมทั้งแผนการอพยพ ที่ระบุถึงขั้นตอนการอพยพ เส้นทางการอพยพ และพื้นที่รองรับการอพยพไว้ในแผนอย่างเป็นระบบ ชัดเจน และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ทันทีที่เกิดภัย

(3) จัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งข่ายหลักและข่ายสำรอง ยานพาหนะ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไว้ให้พร้อมใช้การได้ทันที

(4) จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และคำเตือนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในแม่น้ำ (สูงกว่า/ต่ำกว่าตลิ่ง) ระดับน้ำทะเลหนุน (สำหรับจังหวัดที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำ) รวมทั้งบริเวณพื้นที่ลุ่ม ที่มักจะเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยให้ติดตามสถานการณ์ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ แผนที่อากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม เรดาร์กลุ่มฝน ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสายหลัก ฯลฯ จากข้อมูลในเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน ฯลฯ)

(5) จัดให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ผ่านข่ายการสื่อสารของทางราชการ สื่อมวลชน วิทยุชุมชนในท้องถิ่น หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข่าวสาร จากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือหน่วยงานอื่นอย่างใกล้ชิด และใช้ประโยชน์ จากอาสาสมัคร “มิสเตอร์เตือนภัย” ผ่านการฝึกอบรมแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง ติดตามรับสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้สามารถดำเนินการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น

(6) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุการณ์ สำรองอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรคและอุปกรณ์ฉุกเฉิน สร้างพนังกั้นน้ำหรือแนวป้องกันดินถล่มพร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น สังเกตลม ฟ้า อากาศ การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของสัตว์ ตลอดจนระมัดระวัง อันตรายจากกระแสไฟฟ้าดูด รั่ว หรือลัดวงจร

(7) แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญในการจัดหาพื้นที่รองรับน้ำ (แก้มลิง) พร้อมทั้งจัดงบประมาณเพื่อดำเนินการล้างท่อระบายน้ำในเขตชุมชน ขุดลอก คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยได้อย่างรวดเร็วและสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

(8) จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยฯ ที่ได้จัดทำขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัครในพื้นที่ ทั้งนี้งบประมาณในการฝึกซ้อมให้พิจารณาขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เข้าร่วมทำการฝึกซ้อม ฯ ตามความจำเป็นและเหมาะสม

2.2 ด้านการปฏิบัติเมื่อเกิดภัย (ขณะเกิดภัย)

(1) ในขณะที่สถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลากกัดเซาะคอสะพานขาด น้ำท่วมผิวจราจรในระดับสูงที่ไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวจราจรได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการกำชับแขวงการทางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ติดป้ายเตือน/วางแผงปิดกั้นช่องทางจราจร เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางถนนสายดังกล่าวได้ทราบ พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกการจราจรในจุดอันตรายดังกล่าว

(2) กรณีมีผู้สูญหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว โดยสนธิกำลังจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตพื้นที่ อาสาสมัครฯ เข้าไปกู้ภัย ค้นหา ผู้สูญหายและผู้ติดค้างในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน

(3) ขณะที่เกิดภัย ให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับมูลนิธิ ภาคเอกชน จัดอาหาร (ข้าวกล่อง) น้ำดื่ม เครื่องยังชีพที่จำเป็น ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ประสบภัยให้ทั่วถึงและเพียงพอ รวมทั้งจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวให้แก่ราษฎรที่บ้านเรือนเสียหาย และช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัย ทั้งด้านอาหาร น้ำดื่ม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม เวชภัณฑ์ และยารักษาโรค โดยใช้จ่ายจากเงินทดรองราชการของจังหวัด (งบ 50 ล้านบาท) หรือจากงบฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ให้ถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วน ที่จะต้องดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยเป็นลำดับแรก

(4) พื้นที่วิกฤติที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยทางรถยนต์ได้ให้ประสานขอรับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จากหน่วยทหารหรือตำรวจในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับเดินทางเข้าไปในพื้นที่วิกฤติเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน

2.3 ด้านการให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูบูรณะ (หลังภัยผ่านพ้น/หลังเกิดภัย)

(1) ประสานงานมูลนิธิ องค์กรการกุศล เพื่อให้การสนับสนุนในเรื่องการประกอบเลี้ยงผู้อพยพ และให้การสงเคราะห์ผู้ประสบภัยจากเครือข่าย อาทิ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู หน่วยอาสาสมัครและองค์กรการกุศล ในพื้นที่

(2) พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีงบฉุกเฉิน ในวงเงิน 50 ล้านบาท สามารถให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการเตรียมการป้องกัน เช่น วางแนวกระสอบทรายปิดกั้นทางน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การขุดลอกเปิดทางน้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายหรืออันตรายต่อสาธารณะ ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม สิ่งจำเป็นต่อการยังชีพ (ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เกิดภัย) การจ่ายเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย ค่าจัดการศพ (ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน) และการซ่อมแซมถนน สะพาน เหมือง ฝาย ที่ชำรุดเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว (ควรดำเนินการภายหลังน้ำลดให้แล้วเสร็จภายใน 15-30 วัน)

สำหรับพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์ บ่อปลา นากุ้ง ที่ได้รับความเสียหาย ให้แต่งตั้งคณะทำงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ประกอบด้วย เกษตรอำเภอ ประมง ปศุสัตว์ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน สำรวจความเสียหายที่แท้จริง และนำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) ให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 12 - 18 มิถุนายน 2552

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนกระจาย ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและทะเลในภาคตะวันออกมีกำลังปานกลาง ในช่วงวันที่ 14-17 มิถุนายน 2552 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยจะมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังภัยอันตรายไว้ด้วย ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ