แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 14:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15 ซึ่งที่ประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15 จะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 19 มิถุนายน 2552

2. เห็นชอบให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรี 6 ประเทศ ได้ในกรณีที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในการประชุมคณะทำงานเพื่อปรับปรุงร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายในวันที่ 16-17 มิถุนายน 2552

สาระสำคัญ

1. วัตถุประสงค์ของการประชุมรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15 เพื่อติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามทิศทางที่เหล่าผู้นำได้ให้นโยบายในการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2551 โดยเฉพาะในบริบทที่มีความท้าทายอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก

2. ความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์เพื่อการพัฒนา GMS (Vientiane Plan of Action for GMS Development) รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมาของทั้ง 9 สาขาความร่วมมือ และความจำเป็นในการขยายความร่วมมือกับ Development Partners เพื่อการดำเนินงานในระยะต่อไป ประกอบด้วย

2.1 ด้านคมนาคมขนส่ง สะพานแม่น้ำโขงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ — ใต้ ที่จะเริ่มการก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในเดือนกันยายน 2555 และการทบทวนแผนโครงข่ายทางรถไฟของอนุภูมิภาคอยู่ระหว่างดำเนินการโดยความช่วยเหลือทางวิชาการจาก ADB ทั้งนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเหนือ — ใต้ (Strategic and Action Plan for NSEC) และยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก — ตะวันตก (Strategic and Action Plan for EWEC) เพื่อเป็นแนวทางการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนตามแนวเส้นทางเชื่อมโยง

2.2 ด้านการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่ง อนุมัติผลการศึกษายุทธศาสตร์และแผนการทำงานด้านอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งของ GMS (Trade and Transport Facilitation : TTF) รับทราบการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก — ตะวันตก ระหว่างไทย — ลาว —เวียดนาม และการปรับเพิ่มจำนวนยานพาหนะในการเดินรถข้ามพรมแดนระหว่างกัมพูชา-เวียดนาม และรับทราบผลการประชุม The GMS Economic Corridors Logistics Symposium และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องในระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2552 ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน

2.3 ด้านพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทำข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า และการเชื่อมโยงสายส่งระหว่างกัน เริ่มการบูรณาการประเด็นข้อห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมในขั้นตอนการวางแผนและนำไปสู่การปฏิบัติและเห็นชอบต่อแผนที่นำทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติสำหรับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของ GMS ซึ่งได้ขยายขอบข่ายความร่วมมือนอกเหนือไปจากด้านพลังงานไฟฟ้า (GMS Roadmap for Expanding Cooperation in Energy)

2.4 ด้านโทรคมนาคม การสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงระยะที่ 2 ของโครงการพัฒนาเครือข่ายทางด่วนข้อมูลข่าวสาร (Information Superhighway Network) และการพัฒนาด้านกฎระเบียบและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี

2.5 ด้านเกษตร การเตรียมเริ่มโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในชนบท และความร่วมมือควบคุมโรคสัตว์ข้ามพรมแดนระยะที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการฉีดวัคซีนโรคปศุสัตว์ และทำกิจกรรมเพื่อเผยแพร่สร้างความเข้าใจให้ประชาชน

2.6 ด้านท่องเที่ยว การประกาศปีการท่องเที่ยวแม่โขง 2552-2553 (Visit Mekong Year 2009-2010) การจัดทำเว็บไซต์ www.exploremekong .org เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และการยืนยันความร่วมมือที่แข็งขันระหว่างรัฐมนตรีท่องเที่ยว 6 ประเทศในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2

2.7 ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างความเข้มแข็งในด้านงานวิจัยให้แผนงานพนมเปญ และความก้าวหน้าในการป้องกันโรคติดต่อตามแนวชายแดน ได้แก่ เอดส์ มาเลเรีย และไข้เลือดออก ที่ประชุมเห็นชอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอนุภูมิภาค (GMS HRD Strategic Framework and Action Plan) ที่ครอบคลุมความร่วมมือด้านแรงงาน การศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาสังคม

2.8 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการใหม่เริ่มดำเนินงานในระหว่างปี 2552-2554 ได้แก่ โครงการแนวพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Corridors Initiatives) การประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งมีการจัดทำการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ของสาขาพลังงานการขนส่งสินค้า และในสาขาเกษตรตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก

3. การดำเนินงานที่มีความสำคัญสูงใน 3 ปีข้างหน้า (ปัจจุบัน-2555) มุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่

3.1 เร่งรัดการดำเนินงานความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross Border Transport Agreement : CBTA) และโครงการด้านการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งอื่นๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อลดต้นทุนและการขนส่งข้ามพรมแดนโดยการบูรณาการงานมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่ง เช่น CBTA, กรอบยุทธศาสตร์เพื่อการดำเนินงานการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน, และโครงการด้านศุลกากรในกรอบอาเซียน และหาโครงการที่ทำสำเร็จได้เร็ว (Quick wins)

3.2 การพัฒนาแนวเส้นทางการขนส่งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นแนวพื้นที่พัฒนา เศรษฐกิจ โดยสร้างบรรยากาศและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน และสนับสนุนการดำเนินงานเวทีหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Corridor Forum : ECF)

3.3 การลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมต่อความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นและต่อแผนการพัฒนา GMS รวมถึงผลที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางนิเวศวิทยา การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด ตลอดจนคมนาคมขนส่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

4. บทสรุป ในช่วง 3 ปีข้างหน้าประเทศสมาชิกจะร่วมกันดำเนินงานตามแผนงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด และร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนา GMS ในอีก 10 ปีข้างหน้า หลังปี 2555 ซึ่งมุ่งเน้นให้มีความก้าวหน้าที่ชัดเจนในเรื่องการพัฒนาโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ การขยายตลาดของประเทศสมาชิกให้เชื่อมโยงกัน และการพัฒนาความสามารถในการรับมือกับประเด็นปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ