คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2552 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร)ได้รับอนุมัติให้เป็นหัวหน้าคณะผู้เทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2552 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านการขนส่ง / ผู้แทนระดับสูงของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ สหพันธรัฐรัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยการประชุมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีและเพื่อพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรี
2) การประชุมระดับรัฐมนตรี
3) การประชุมรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Ministerial Retreat) สรุปผลการประชุมได้ดังนี้
1. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
- ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีในประเด็นที่ยังคงคั่งค้าง เช่น การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้น
สะดมเรือ และภาวะก๊าซเรือนกระจกจากการปล่อยทิ้งของเสียจากภาคการขนส่ง ซึ่งภายใต้หัวข้อการขนส่งอย่างยั่งยืนของ
ร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ได้มีการระบุถึงความกังวลต่อราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่ง จึงเห็น
ควรส่งเสริมการพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากวัตถุดิบที่มิได้ผลิตจากอาหาร (non food material) ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่า
การกระทรวงคมนาคม (นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยมีความเห็นว่า สมาชิกเขตเศรษฐกิจของ
เอเปคหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม หากกำหนดให้สมาชิกเอเปคส่งเสริมการผลิต non
food material สำหรับพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพก็จะทำให้ประเทศเกษตรกรรมเหล่านี้เสียเปรียบเห็นควรขอแก้ไข ฝ่าย
ไทยจึงได้เสนอขอแก้ไขร่างแถลงการณ์โดยขอตัดคำว่า “made from non food material” ออก ซึ่งที่ประชุมได้
พิจารณาเห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าวของฝ่ายไทย
2. การประชุมระดับรัฐมนตรีและการประชุมรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ที่ประชุมได้หารือในประเด็นหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ ความปลอดภัยและความมั่นคงด้านการขนส่ง การสนับสนุนด้านการเงินในสาขาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และระบบการขนส่งที่ยั่งยืนไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งที่ประชุมได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีด้านการขนส่งของเอเปค (Joint Ministerial Statement) และได้ยืนยันเจตนารมณ์ของสมาชิกเขตเศรษฐกิจที่จะดำเนินงานเพื่อให้บรรลุระบบความขนส่งที่ปลอดภัยมั่นคง และมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายโบกอร์ที่มุ่งเน้นการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเปค รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคการขนส่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อกังวลเป็นพิเศษในเรื่องการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นสะดมเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งโซมาเลีย อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ และยังได้มีการกำหนดมาตรการที่จะบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของราคาอาหารและน้ำมันซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกรวมถึงการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาภาวะเรือนกระจก โดยเห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินโครงการต่างๆ ที่จะสามารถส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่สะอาดอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกทั้งในการลงทุนในสาขาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งจะต้องมุ่งเน้นการลดต้นทุนการประหยัดพลังงาน และการเข้าถึงอย่างสะดวก ที่ประชุมได้กำหนดแผนงานที่จะดำเนินการในอีก 2 ปีข้างหน้า ได้แก่
1) การดำเนินการตามเป้าหมายโบกอร์ในลักษณะการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว (unilateral) และในรูปแบบ
ความร่วมมือในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ด้านการค้าและการขนส่ง
2) การบูรณาการทางเศรษฐกิจ การเปิดตลาด และการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายคนและสินค้าในภูมิภาค
3) การส่งเสริมระบบการขนส่งในภูมิภาคให้เชื่อมโยงถึงกันอย่างทั่วถึงเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน
กระทรวงคมนาคมเห็นว่า การประชุมรัฐมนตรีขนส่งเอเปค ครั้งที่ 6 นี้ เป็นโอกาสที่รัฐมนตรีขนส่งของเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายด้านการขนส่งในเขตเศรษฐกิจของตนให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของความร่วมมือในกรอบเอเปค รวมทั้งเสนอความคิดริเริ่มด้านความปลอดภัยและความมั่นคงด้านการขนส่ง นอกจากนั้น ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาเรื่องการปล่อยทิ้งของเสียจากการขนส่งทางอากาศซึ่งก่อให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งประเด็นนี้มี Aviation Emission Task Force (AETF) ภายใต้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสาขาการขนส่งทางอากาศของคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินการในเรื่องนี้ โดยที่ประชุมเห็นควรสนับสนุนให้ AETF ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามโครงการ Asia Pacific Initiative to Reduce Emission (ASPIRE) ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดการปล่อยทิ้งของเสียจากอากาศยานในเที่ยวบินระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการจราจรทางอากาศ เพื่อการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นควรสนับสนุนการดำเนินงานของ AETF
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--