คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเจรจาความร่วมมือไทย — จีน และแผนการพัฒนาสวนสัตว์และการขยายสวนสัตว์ที่องค์การสวนสัตว์ดำเนินการเพื่อรองรับงานการศึกษา งานวิจัย ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้ประสานด้านความร่วมมือไทย-จีน ต่อไป ส่วนการพัฒนาและขยายสวนสัตว์เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณพิจารณาให้การสนับสนุนแผนการลงทุนการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินงานบรรลุเป้าหมายต่อไป
ความเป็นมา
ตามที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มอบแพนด้า จำนวน 1 คู่ ชื่อ ช่วงช่วง และหลินฮุ่ย ทูตสันถวไมตรีให้ประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 เพื่อให้องค์การสวนสัตว์ดำเนินการตามโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน องค์การสวนสัตว์ได้พัฒนาสถานที่เลี้ยงและสถานที่วิจัยให้เหมาะสม รวมทั้งการดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีพิเศษ โดยได้จัดสร้างส่วนจัดแสดงแพนด้า ณ สวนสัตว์ เชียงใหม่ โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยได้ร่วมเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547
นับตั้งแต่ประเทศไทยได้รับแพนด้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจัดแสดง ณ สวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 องค์การสวนสัตว์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลแพนด้าให้มีสุขภาพแข็งแรง จนแพนด้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น มีความร่าเริง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมภายในสถานที่เลี้ยงในสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นอย่างดี แพนด้าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้าชมเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการส่งเสริมด้านการศึกษาสัตว์ป่าหายากของโลก และกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้องค์การสวนสัตว์ได้ดำเนินการโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย จนสามารถขยายพันธุ์แพนด้า โดยให้ลูก 1 ตัว เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับชาวไทยในความสำเร็จการผสมเทียมจนแพนด้าตกลูก 1 ตัว จากการที่แพนด้า หลินฮุ่ย ในสวนสัตว์เชียงใหม่ได้ให้ลูกเพศเมีย 1 ตัว เป็นความภาคภูมิใจของประชาชนชาวไทยในความสามารถที่สวนสัตว์เลี้ยงแพนด้าได้อย่างดี จนมีลูก และเป็นลูกแพนด้าตัวเดียวของโลกในรอบปี 2552 ทางรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ชื่นชมต่อความสามารถของคนไทย ประชาชนก็ปลื้มปิติต่อการเกิดลูกแพนด้าที่จะเป็นทูตในการกระชับสัมพันธไมตรีไทย-จีน ให้กระชับและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างไทย-จีน เพื่อดำเนินการตามโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย กำหนดไว้ว่าเมื่อแพนด้าที่สาธารณรัฐประชาชนจีนส่งมอบให้ไทยให้ลูกแล้ว ลูกแพนด้าจะอยู่ได้ 2 ปี และต้องส่งคืนประชาชนจีน เพื่อนำไปเข้าคู่กับลูกแพนด้าตัวอื่น ดังนั้น จึงเกิดกระแสของประชาชนและเยาวชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อขอขยายเวลาให้ลูกแพนด้าอยู่ประเทศไทยให้คนไทยได้ชื่นชมในความสำเร็จครั้งนี้ด้วย อีกทั้งให้ลูกแพนด้าได้อยู่กับพ่อแม่เป็นครอบครัวแพนด้าที่สมบูรณ์
หลักการและเหตุผล
องค์การสวนสัตว์ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากของโลก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 รวม 4 โครงการ คือ โครงการเพาะขยายพันธุ์ละมั่งพันธุ์ไทย โครงการผสมเทียมนกกระเรียนพันธุ์ไทยในกรงเลี้ยง โครงการศึกษาการเก็บรักษาพันธุกรรมสัตว์ตระกูลแมว และโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย
การดำเนินงานทั้ง 4 โครงการ ได้บรรลุจนสำเร็จตามที่กำหนดไว้ ฉะนั้น จึงควรที่จะมีการขยายผลให้ดำเนินการต่อเนื่องไป เพื่อประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา การวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเยาวชน อันเป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐบาลตามพระราชบัญญัติการศึกษาในการส่งเสริมให้มีการศึกษา ตลอดชีวิตในรูปแบบของการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติ และสัตว์ป่า อีกทั้ง เป็นประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อันเป็นการสร้างรายได้ สร้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นและประเทศชาติอีกด้วย
การดำเนินงาน
1. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) ได้เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 และได้มีการเจรจากับผู้ว่าการการป่าไม้แห่งชาติจีน (ระดับรัฐมนตรีดูแลด้านป่าไม้และสัตว์ป่า : Administrator State Forestry Administration P.R. China) โดยได้เจรจาในเรื่องการจะส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ เรื่องการให้ลูกแพนด้าอยู่ประเทศไทยนานๆ และการจัดตั้งศูนย์วิจัยแพนด้าในประเทศไทย ซึ่งฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ยินดีให้การส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ส่วนเรื่องลูกแพนด้าก็จะรับไปพิจารณาและขอให้ฝ่ายไทยให้ความสำคัญการเลี้ยงลูกแพนด้าในช่วงเติบโต
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) พร้อมด้วยคณะได้เดินทางไปเจรจากับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป่าไม้และสัตว์ป่าของสาธารณรัฐประชาชนจีนผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน (Mr.Yin HONG ; Deputy Administrator State Forestry Administration. P.R. China) เรื่องการขอขยายเวลาให้ลูกแพนด้าอยู่ประเทศไทยต่อไป เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2552 โดยมีประเด็นการเจรจา ดังนี้
2.1 การจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาแพนด้า ไทย — จีน อย่างถาวร เพื่อจะได้ก่อให้เกิดการวิจัยของแพนด้าในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
2.2 การเจรจาได้มีการกล่าวถึงกรอบความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและ State Forestry Administrator โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ State Forestry Administrator ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมพิจารณาจัดทำกรอบความร่วมมือที่จะดำเนินงานวิจัย การแลกเปลี่ยนนักวิชาการ การจัดให้การฝึกอบรมสัมมนาร่วมกัน กรอบความร่วมมือนี้จะเป็นการเชื่อมโยงความร่วมมืองานวิจัยแพนด้าอย่างถาวร
เพื่อให้แผนงานที่จะร่วมดำเนินการระหว่าง ไทย — จีน สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี องค์การสวนสัตว์ได้จัดทำแผนรองรับเพื่อการดำเนินงานร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยองค์การสวนสัตว์ได้พัฒนาสวนสัตว์ที่มีอยู่แล้ว 5 สวนสัตว์ คือ สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา และสวนสัตว์สงขลา และการขยายสวนสัตว์แห่งใหม่อีก 6 แห่ง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แล้ว คือ สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ราชบุรี สวนสัตว์นครสวรรค์ สวนสัตว์สุโขทัย สวนสัตว์สุรินทร์ อุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบน ขอนแก่น — อุดรธานี ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. 2479 ที่กำหนดวัตถุประสงค์จัดตั้งองค์การสวนสัตว์ไว้ คือ จัดดำเนินการ ส่งเสริม รวบรวมสัตว์นานาชนิด เพื่อประโยชน์ในการศึกษา จัดให้มีการบำรุง ผสมพันธุ์สัตว์ต่างๆ ไว้มิให้สูญพันธุ์ นอกจากนี้การขยายสวนสัตว์เป็นการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมถึงการฟื้นฟูสภาพป่าให้สมบูรณ์อีกด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--