ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 24, 2009 10:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)

2. กำหนดไม่ให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นของรัฐ และรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และการจ้างงานอื่น (ร่างมาตรา 3)

3. กำหนดคำนิยามศัพท์ เช่น งานที่รับไปทำที่บ้าน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผู้จ้างงาน เป็นต้น (ร่างมาตรา 4)

4. กำหนดให้บรรดาคดีที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างผู้จ้างงานกับผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาท หรือเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน (ร่างมาตรา 8)

5. กำหนดให้ผู้จ้างงานต้องจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้าน และกำหนดให้คณะกรรมการการรับงานไปทำที่บ้านเป็นผู้มีอำนาจกำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับงานที่รับไปทำที่บ้าน (ร่างมาตรา 9)

6. กำหนดห้ามมิให้ผู้จ้างงานเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน เว้นแต่ประเภท ปริมาณ หรือมูลค่าของงานที่ทำนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จ้างงานได้ โดยการเรียกหรือรับหลักประกันจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 14)

7. กำหนดให้ผู้จ้างงานจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านในขณะที่ส่งมอบงานที่ทำหรือตามกำหนดที่ตกลงกัน แต่ไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านส่งมอบงานที่ทำนั้น (ร่างมาตรา 17)

8. กำหนดห้ามผู้จ้างงานหักค่าตอบแทน เว้นแต่เป็นการหักเพื่อชำระภาษีเงินได้ หรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้จ้างงาน (ร่างมาตรา 19)

9. กำหนดห้ามผู้ใดให้หญิงมีครรภ์หรือเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีทำงานที่มีลักษณะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย (ร่างมาตรา 20)

10. กำหนดให้ผู้จ้างงานเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย เว้นแต่การประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทั้งนี้ การรักษาพยาบาลและค่าทำศพให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 24)

11. กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการการรับงานไปทำที่บ้าน วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง องค์ประชุมและอำนาจหน้าที่คณะกรรมการ (ร่างมาตรา 25 ถึงร่างมาตรา 31)

12. กำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้างหรือข้อกำหนดในเอกสารเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้านที่ทำให้ ผู้จ้างงานได้เปรียบผู้รับงานไปทำที่บ้านเกินสมควร มีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี (ร่างมาตรา 37)

13. กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น เข้าไปในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของผู้จ้างงาน มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ และมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้จ้างงานหรือ ผู้รับงานไปทำที่บ้านปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 38)

14. กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 41 ถึงร่างมาตรา 49)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ