ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 24, 2009 10:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า

1. เดิมได้มีการรณรงค์ให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเพื่อต้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดพะเยาให้สูงขึ้น มีสถาบันทางวิชาการเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการ และช่วยชี้นำสังคมให้ได้รับการพัฒนาทัดเทียมจังหวัดอื่นๆ แบบยั่งยืน ทบวงมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่าการจัดตั้งมหาวิทยาลัยต้องลงทุนสูง แต่ถ้าจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยให้มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกดำเนินการเหมือนเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ ช่วยจัดการเรียนการสอนไปพลางก่อน การสร้างอาคารสถานที่ค่อยเป็นค่อยไปจะได้ไม่ต้องลงทุนสูง เมื่อมีความพร้อมจึงยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยต่อไป โดยการยกฐานะดังกล่าวจะเป็นรูปแบบของมหาวิทยาลัยเฉพาะทางที่เน้นด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มุ่งเน้นการผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยอาศัยการมีหุ้นส่วน (Partnership) และการสร้างระบบเครือข่ายทางวิชาการ (Networking) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 และวันที่ 8 ตุลาคม 2539 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา

2. สภามหาวิทยาลัยนเรศวรพิจารณาแล้วเห็นว่า การยกฐานะวิทยาเขตสารสนเทศพะเยาเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศนั้น เป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งวิทยาเขตสารสนเทศพะเยา และจะพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้มีคุณภาพ ประกอบกับในปัจจุบันสถาบันการศึกษาแห่งนี้มีความพร้อมด้านอาคาร สถานที่ บุคลากร ที่จะรองรับการจัดการเรียนการสอนตามแผนการจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศแล้ว สภามหาวิทยาลัยนเรศวรจึงมีมติเห็นชอบการยกฐานะวิทยาเขตสารสนเทศพะเยาเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา

3. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีหลักการที่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งการยกฐานะดังกล่าวอาจมีผลกระทบงบประมาณในระยะเริ่มแรก จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในกำกับของรัฐและไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณหรือกฎหมายอื่น (ร่างมาตรา 4)

2. ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และมีวัตถุประสงค์การจัดการศึกษาตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 6 ร่างมาตรา 9 และร่างมาตรา 10)

3. ให้มหาวิทยาลัยแบ่งส่วนงานออกเป็นสำนักงานมหาวิทยาลัย ส่วนงานวิชาการ ส่วนงานอื่นๆ และให้การจัดตั้ง การรวม การยุบเลิกส่วนงานจัดทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่การแบ่งส่วนงานเป็นหน่วยงานภายในให้ทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัย (ร่างมาตรา 8)

4. ให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่กระทำการต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด และต้องส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่เข้ารับการศึกษาและผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เรียนจนจบปริญญาตรี (ร่างมาตรา 12 และร่างมาตรา 14)

5. ให้มหาวิทยาลัยมีรายได้จากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินกองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น และรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุน เป็นต้น และให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ (ร่างมาตรา 13)

6. กำหนดให้บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ ซื้อมาด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยน หรือได้มาโดยทางอื่น ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย ให้ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยโดยตรงไม่อยู่ข่ายแห่งการบังคับคดี (ร่างมาตรา 15 และร่างมาตรา 16)

7. ให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วยนายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด ตลอดจนให้การกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา วิธีการถอดถอน นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการ เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย (ร่างมาตรา 18 และร่างมาตรา 20)

8. กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ร่างมาตรา 19)

9. ให้มีคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย อธิการบดี เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนด และให้การประชุมการดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยและคณะกรรมการเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย (ร่างมาตรา 21 ร่างมาตรา 22 และร่างมาตรา 23)

10. ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์และสภาพนักงาน โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด และให้องค์ประกอบ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มาหรือการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุม เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย (ร่างมาตรา 24 ถึงร่างมาตรา 26)

11. ให้มีอธิการบดีซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การรักษาราชการแทน โดยให้อธิการบดีมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 28 ถึงร่างมาตรา 31)

12. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาและการวิจัย ตลอดจนการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย (ร่างมาตรา 37 ถึงร่างมาตรา 40)

13. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการบัญชีและการตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย (ร่างมาตรา 41 ถึงร่างมาตรา 46 และร่างมาตรา 47)

14. กำหนดให้มีตำแหน่งทางวิชาการ คณาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อาจารย์พิเศษ และให้คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย (ร่างมาตรา 49 ถึงร่างมาตรา 52)

15. กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการให้ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ (ร่างมาตรา 54 ถึงร่างมาตรา 61)

16. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณฯ การโอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2533 มาเป็นของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 64 และร่างมาตรา 66)

17. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกสภามหาวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ประธานสภาอาจารย์ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2533 และให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรรักษาการในตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี (ร่างมาตรา 67 ถึงร่างมาตรา 70)

18. กำหนดให้ข้าราชการ หรือลูกจ้าง ต้องแจ้งความจำนงประสงค์จะเปลี่ยนเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องผ่านการประเมินก่อน (ร่างมาตรา 75)

19. กำหนดให้นำข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2533 ที่ใช้อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม (ร่างมาตรา 76)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ