คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ แล้วมีมติมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาในการตรวจร่างพระราชกฤษฎีกานี้ โดยให้เชิญผู้แทนของสำนักงาน ก.พ. และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เข้าร่วมชี้แจงด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ร่างมาตรา 3)
2. ให้นำบทบัญญัติบางลักษณะแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาใช้บังคับกับข้าราชการพลเรือนในพระองค์ เว้นแต่ที่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชกฤษฎีกานี้ และมิให้นำความในมาตรา 58 แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าว มาใช้บังคับกับข้าราชการพลเรือนในพระองค์ (ร่างมาตรา 4)
3. กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการสามัญตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในสำนักพระราชวังและในสำนักราชเลขาธิการ เพื่อเป็นองค์กรบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ในสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการตามลำดับ โดยให้ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ และให้ อ.ก.พ. สำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 16 หรือมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (ร่างมาตรา 5 — 7 )
4. กำหนดขอบเขตของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ และให้มีหน้าที่เกี่ยวกับงานในพระองค์พระมหากษัตริย์ (ร่างมาตรา 8)
5. กำหนดตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ในสำนักพระราชวังและในสำนักราชเลขาธิการ และกำหนดให้จำนวน ประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับ เป็นไปตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักพระราชวังหรือ อ.ก.พ. กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการ แล้วแต่กรณี กำหนด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตามที่ ก.พ. กำหนด (ร่างมาตรา 9 — 11)
6. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ กำหนดบุคคลผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ (ร่างมาตรา 12 — 13)
7. กำหนดให้ผู้ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์บางตำแหน่งต้องทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและให้ได้รับการพัฒนาเพื่อให้รู้ระเบียบแบบแผนของทางราชการและการเป็นข้าราชการที่ดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.พ. สำนักพระราชวัง หรือ อ.ก.พ. สำนักราชเลขาธิการ แล้วแต่กรณี กำหนด (ร่างมาตรา 14)
8. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการย้าย การโอน การเลื่อน การสั่งเลื่อนเงินเดือน การออกจากราชการ และการอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยหรือการออกจากราชการ ตลอดจนการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ (ร่างมาตรา 15-20)
9. กำหนดเกี่ยวกับการจัดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ในวาระเริ่มแรก การนำหลักเกณฑ์ วิธีการที่มีอยู่ก่อนพระราชกฤษฎีกานี้มาใช้บังคับ การอุทธรณ์และร้องทุกข์ที่ยื่นก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับและเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (ร่างมาตรา 21 -24)
10. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 25)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2552 --จบ--