หลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน การถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 24, 2009 11:14 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง หลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน การถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน การเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่น

การจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญขององค์การมหาชน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้

1. หลักเกณฑ์ในการกู้ยืมเงินขององค์การมหาชน

2. แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน การเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่นขององค์การมหาชน

3. หลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญขององค์การมหาชน

ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย

สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า

1. โดยที่มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 บัญญัติให้การกู้ยืมเงิน การถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน การเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่น การจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

2. สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (24 มีนาคม 2552) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าว และนำหลักเกณฑ์เสนอต่อ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์การมหาชนและองค์กรรูปแบบอื่นในกำกับของราชการฝ่ายบริหารที่มิใช่ส่วนราชการ และเสนอ ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 ได้มีมติ ดังนี้

2.1 หลักเกณฑ์ในการกู้ยืมเงินขององค์การมหาชน เห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่ อ.ก.พ.ร. เสนอ แต่ให้กำหนดยอดเงินกู้คงค้างต้องไม่เกินร้อยละห้าของเงินทุน ทั้งนี้ ยอดเงินกู้คงค้างต้องไม่เกินห้าล้านบาท

2.2 หลักเกณฑ์การถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน และหลักเกณฑ์การเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่น ไม่สมควรกำหนดเป็นหลักเกณฑ์กลาง แต่ให้กำหนดเป็นแนวปฏิบัติว่า หากองค์การมหาชนแห่งใดประสงค์จะถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วนหรือเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่นให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณีๆ ไป

2.3 หลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญขององค์การมหาชน เห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่ อ.ก.พ.ร.เสนอ และให้เพิ่มเติมการคงความรับผิดชอบทางหนี้ของลูกหนี้และองค์การมหาชนต้องดำเนินการฟ้องร้องจนกว่าคดีถึงที่สุด รวมทั้งให้คงรายการของทรัพย์สินที่มีมูลค่าเป็นสูญไว้ในบัญชีทรัพย์สินขององค์การมหาชนจนกว่าจะมีการอนุมัติให้จำหน่ายออกจากบัญชี

สาระสำคัญของเรื่อง

1. หลักเกณฑ์ในการกู้ยืมเงินขององค์การมหาชน

1.1 กำหนดนิยามคำว่า “การกู้ยืมเงิน” และ “เงินทุน”

1.2 กำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินขององค์การมหาชน เช่น

  • สามารถกระทำได้ต่อเมื่อได้มีการบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง
  • จะต้องนำไปใช้ในกิจการตามวัตถุประสงค์ขององค์การเป็นหลัก
  • คณะกรรมการต้องรับผิดชอบในกรณีเกิดผลเสียหายเนื่องมาจากการกู้ยืมเงิน
  • ต้องเป็นการกู้เงินเพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน
  • ยอดเงินกู้คงค้างต้องไม่เกินร้อยละห้าของเงินกองทุน ทั้งนี้ ยอดเงินกู้คงค้างต้องไม่เกินห้าล้านบาท
  • กู้ยืมเงินได้เฉพาะจากธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารพาณิชย์ที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ (ข้อ 1 - ข้อ 8)

2. การถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน การเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่นขององค์การมหาชน (โดยไม่กำหนดเป็นหลักเกณฑ์กลาง แต่กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติไว้)

2.1 กำหนดนิยามคำว่า “การถือหุ้น” “การเข้าเป็นหุ้นส่วน” “การเข้าร่วมทุน” “การร่วมทุนโดยทำสัญญา” “การร่วมทุนโดยการถือหุ้น” “การร่วมลงทุน” และ “เงินทุน”

2.2 กำหนดแนวทางปฏิบัติการถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน การเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่นขององค์การมหาชน เช่น

  • สามารถกระทำได้ต่อเมื่อได้มีการบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง
  • จะต้องเป็นไปตามภารกิจขององค์การมหาชนนั้นเป็นหลัก
  • ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณี ๆ ไป (ข้อ 1 — ข้อ 4)

3. หลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญขององค์การมหาชน

3.1 กำหนดนิยามคำว่า “พัสดุ” “วัสดุ” “ครุภัณฑ์” “ผู้ดูแลลูกหนี้” และ “เงินสำรองหนี้สูญ”

3.2 กำหนดหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญ เช่น

  • ต้องมีการกันสำรองหนี้สูญ
  • ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหนี้สูญ
  • ให้คงความรับผิดชอบทางหนี้ และต้องดำเนินการฟ้องร้องจนกว่าคดีถึงที่สุด (ข้อ 1 — ข้อ 7)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ