คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย ระหว่างปี 2552-2556 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. การเจรจาระดับภูมิภาคให้ความสำคัญกับการเจรจาร่วมกับอาเซียนเป็นลำดับแรก ทั้ง ASEAN AEC (AEC : ASEAN Economic Community) 10 ประเทศ ASEAN FTA (FTA : Free Trade Area) [ที่กำลังเจรจาอยู่ คือ อาเซียน-อินเดีย (บริการและการลงทุน) อาเซียน-เกาหลี (การลงทุน) อาเซียน-ญี่ปุ่น (บริการและการลงทุน) อาเซียน-สหภาพยุโรป] และ ASEAN+X
2. การเจรจาระดับทวิภาคีให้ความสำคัญกับการเจรจากับประเทศต่างๆ ดังนี้
2.1 การเจรจากับประเทศใหม่ที่มีศักยภาพ จากการศึกษาวิเคราะห์เพื่อคัดเลือกประเทศที่คาดว่ามีศักยภาพเป็นคู่ค้ากับไทยและ/หรือ เป็นแหล่งทุน วัตถุดิบ และเทคโนโลยีพบว่า มี 3 ประเทศที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ GCC Mercosur (GCC : Gulf Cooperation Council, Mercosur : Mercado Comun del Sur) และชิลี ทั้งนี้ ในส่วนของ GCC และ Mercosur นั้น อาเซียนกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบ หากมีการจัดทำ FTA ซึ่งไทยอาจให้น้ำหนักกับการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจลักษณะต่างๆ ในการเจรจาของอาเซียนกับประเทศเหล่านี้
2.2 การเจรจากับประเทศที่ค้างอยู่เฉพาะกับประเทศที่ประเมินแล้วว่าไทยได้รับประโยชน์โดยรวมจากการเจรจาคือ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) อินเดียและเปรู ส่วนประเทศอื่นที่ต้องเจรจาต่อ คือ EFTA (European Free Trade Area) รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งความตกลงมีผลใช้บังคับแล้วและตกลงไว้ว่าจะเจรจาต่อหลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับ 3 ปี ควรประเมินประโยชน์และผลกระทบก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาต่อไป
2.3 การเจรจากับประเทศที่มีศักยภาพแต่อาจยังไม่เหมาะสมที่จะใช้แนวทางการเจรา FTA ให้นำรูปแบบการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าอื่นๆ มาใช้ เช่น การทำสัญญาความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า การเยือนระดับสูง การพบปะของคณะนักธุรกิจ เป็นต้น จากการศึกษาวิเคราะห์ประเทศในกลุ่มนี้ ได้แก่ รัสเซียและแอฟริกาใต้
3. การเจรจาระดับพหุภาคีควรเร่งผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาสำเร็จโดยเร็วและเพิ่มความสนใจการติดตามตรวจสอบไม่ให้ประเทศต่างๆ มีการใช้มาตรการกีดกันกับสินค้าและบริการของไทย
ทั้งนี้ กศน. ได้มีมติให้ความเห็นชอบแล้วในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากกว่าร้อยละ 130 ของ GDP ทำให้ไทยต้องเข้าร่วมการเจรจาการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การเจรจาในเวทีต่างๆ มีความคืบหน้าต่างกันไป เช่น
1. การเจรจารอบโดฮาของ WTO ประสบปัญหาชะงักงันมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้สมาชิกรอดูแนวทางนโยบายของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ และการเลือกตั้งของอินเดียที่กำลังจะมีขึ้น
2. การเจรจาภายใต้อาเซียนกำลังดำเนินการที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยในด้านเศรษฐกิจมีแผนงานการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้า การบริการ การลงทุน อย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งกำหนดให้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศนอกกลุ่มผ่านการเจรจา ASEAN FTA และการดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการและภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศด้วย
3. การเจรจา FTA ที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับตลาดหลักและตลาดใหม่ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีการเจรจาสองระดับ คือ
3.1 การเจรจากับประเทศคู่ค้าโดยตรง (Bilateral FTA) โดยมีการเจรจากับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย เปรู EFTA BIMSTEC และบาห์เรน
3.2 การเจรจากับประเทศคู่ค้าร่วมกับอาเซียน (ASEAN FTA) โดยมีการเจรจากับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และสหภาพยุโรป
4. สถานะปัจจุบัน
4.1 สำหรับประเทศไทยแม้ว่าการส่งออกจะลดลงอย่างมากจากปีก่อน แต่การพึ่งพาการส่งออกยังอยู่ในระดับที่สูง (ร้อยละ 77 ของ GDP) ทำให้รัฐบาลยังต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวในอนาคต ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 ที่กำหนดขั้นตอนการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งในกรณีเจรจา FTA จะเกี่ยวข้องกับหลายส่วนราชการในประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานการเจรจาการค้าของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศขึ้น โดยคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมระบบการค้าเสรีและเป็นธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการเจรจาการค้า ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียน และกระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลกและประเทศคู่ค้าของไทยในภูมิภาคต่าง ๆ
4.2 กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2552-2556 ต่อที่ประชุม กนศ. ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 ซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นชอบแนวทางตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยให้ปรับแก้บางประเด็นตามที่ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอแนะ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2552 --จบ--