คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ 2552 (1 ตุลาคม 2551 — 31 มีนาคม 2552) ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ได้รายงานผลการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ 2552 (1 ตุลาคม 2511 — 31 มีนาคม 2552) ดังนี้
1. ความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพ และการใช้บริการทางการแพทย์
1.1 ความครอบคุลมสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ณ เดือนมีนาคม 2552 พบว่า ประชาชนคนไทยมีหลักประกันสุขภาพ จำนวน 62.10 ล้านคน ความครอบคลุมคิดเป็นร้อยละ 98.97 ของประชากรผู้มีสิทธิทั้งประเทศ (62.75 ล้านคน) โดย
1.1.1 เป็นประชากรลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 47.24 ล้านคน (ร้อยละ 75.29) โดยลงทะเบียนสิทธิกับหน่วยบริการของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 42.52 ล้านคน (ร้อยละ 90.00) หน่วยบริการของรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 1.95 ล้านคน (ร้อยละ 4.12) และหน่วยบริการสังกัดเอกชน จำนวน 2.78 ล้านคน (ร้อยละ 5.88)
1.1.2 เป็นประชากรสิทธิว่างที่รอการตรวจสอบ จำนวน 645,128 คน มีหน่วยบริการคู่สัญญาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งสิ้น 1,146 แห่ง
1.2 การใช้บริการทางการแพทย์เฉพาะผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่ามีการใช้บริการ ดังนี้
1.2.1 ผู้ป่วยนอก จำนวน 58.65 ล้านครั้งต่อ 18.84 ล้านคน อัตราการใช้บริการ (ต่อประชากรผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) เท่ากับ 2.48 ครั้งต่อคนต่อปี
1.2.2 ผู้ป่วยในมีจำนวน 2.40 ล้านคนต่อ 9.59 ล้านวัน อัตราการใช้บริการ เท่ากับ 0.10 ครั้งต่อคนต่อปี
1.2.3 กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินและค่าใช้จ่ายสูง มีผู้รับบริการ จำนวน 222,011 และค่าใช้จ่ายสูง จำนวน 61,321 ราย
1.2.4 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ มีจำนวนผู้ลงทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 169,310 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,216 ราย ได้รับยาต้านไวรัสสะสม 104,710 ราย เป็นสูตรดื้อยา 3,872 ราย
1.2.5 การส่งเสริมป้องกันโรค จากผลการตรวจคัดกรองความเสี่ยง พบผู้มีพฤติกรรมเสียงต่อการเกิดเบาหวาน คิดเป็นร้อยละ 0.58 เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 43.41 เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 25.46 และผู้มีพฤติกรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ร้อยละ 10.97 มีผู้รับการตรวจก่อนคลอดและคัดกรอง Thalassemia 369,591 คน (ร้อยละ 84.45 ของการตรวจก่อนคลอด) ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 652,516 ราย และตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม 2,419,326 ราย
1.2.6 การใช้บริการโรคเฉพาะ พบว่า โรคไตวายเรื้อรังมีการรับบริการมากที่สุดร้อยละ 99.50 (จากเป้าหมาย 7,727 ราย) รองลงมาคือโรคเลือดออกง่าย ร้อยละ 92.88 (จากเป้าหมาย 534 ราย) และปากแหว่งเพดานโหว่ ร้อยละ 53.75 (จากเป้าหมาย 2,292 ราย)
2. การควบคุมคุณภาพและกำกับมาตรฐานบริการ
สนับสนุนคุณภาพการบริการได้กำหนดการประเมินคะแนนการพัฒนาคุณภาพในกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 961 แห่ง และการประเมินรับรองคุณภาพโรงพยาบาลจำนวน 25 แห่ง ทางสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ได้ดำเนินการลงเยี่ยมประเมินคะแนนคุณภาพในโรงพยาบาล สามารถรายงานผลการดำเนินงานได้ในเดือนมิถุนายน 2552 ส่วนการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพระบบยาในโรงพยาบาล ปี 2552 ด้านการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข มีหน่วยบริการที่ถูกร้องเรียน พบว่า เอกชนถูกร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 11 เรื่อง (ร้อยละ 5.05) รองลงมาเป็นรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 1.12, 0.72 ผลการวิเคราะห์ ในไตรมาสแรก (ต.ค. — ธ.ค. 51) พบว่าเรื่องร้องเรียนที่ผ่าน 1330 จำนวน 39 เรื่อง จำแนกตามประเภทบริการ ได้แก่ผู้ป่วยนอก 33 ราย (ร้อยละ 84.62) จำแนกตามสาขาบริการได้แก่ อายุรกรรม 13 ราย (ร้อยละ 33.33) รองลงมาเป็นกุมารเวชกรรม และศัลยกรรม 9 และ 6 ราย (ร้อยละ 23.08 และ 15.38) จำแนกตามสาเหตุที่ร้องเรียน ได้แก่มาตรฐานการรักษา/วินิจฉัย 21 ราย (ร้อยละ 53.85) รองลงมาเป็นการบริหารจัดการ 15 ราย (ร้อยละ 38.46) และจำแนกตามประเภทความเสียหาย ได้แก่ เจ็บป่วยต่อเนื่อง 35 ราย (ร้อยละ 89.74)
3. การคุ้มครองสิทธิ และการช่วยเหลือเบื้องต้น
3.1 การให้บริการประชาชนเพื่อช่วยเหลือผู้มีสิทธิและผู้ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ณ มีนาคม 2552 ให้บริการทั้งสิ้น 382,041 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสอบถาม 373,212 เรื่อง (ร้อยละ 97.69) จำแนกเป็นประชาชนสอบถาม 351,891 เรื่อง (ร้อยละ 94.29) และผู้ให้บริการสอบถาม 21,321 เรื่อง (ร้อยละ 5.71)
3.2 ส่วนเรื่องร้องเรียนได้รับการตอบสนองภายใน 30 วันทำการ ร้อยละ 95.02 และเรื่องร้องทุกข์ดำเนินการแล้วเสร็จ ร้อยละ 95.85
3.3 ด้านการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการกรณีได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41) ได้พิจารณาเห็นชอบการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการทั้งหมด 333 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 35.97 ล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 198 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3.61 ล้านบาท
4. การส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคี
เครือข่ายองค์ประชาชน 9 ด้านได้กำหนดแนวทางการบูรณาการงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต./เทศบาล ระหว่าง เครือข่ายองค์กรประชาชน และ อบต./เทศบาล สำหรับพื้นที่นำร่อง 21 แห่ง ด้านการมีส่วนร่วมของ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการโอนเงินสมทบงบประมาณ 3,640 พื้นที่ โดยสามารถครอบคลุมประชากร 26.37 ล้านคน ส่วนองค์กรวิชาชีพ โดยเครือข่ายชมรมผู้บริหารการพยาบาล ได้จัดทำความร่วมมือในการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดในหน่วยบริการทุกระดับ ในระยะที่ 1 จำนวนหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ 134 แห่ง
5. การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
5.1 สปสช. ได้มีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ณ 20 เมษายน 2552 ในภาพรวมมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 43,188.22 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.58 (ของงบกองทุนที่ได้รับ 80,597.69 ล้านบาท) โดยกองทุน OP&IP ในโรงพยาบาลชุมชนเงื่อนไขพิเศษ มีการเบิกจ่ายสูงสุด คือ ร้อยละ 74.07 รองลงมาคือ (โดยพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41) ร้อยละ 67.64 และกองทุน PP 59.63 ตามลำดับ สปสช.ได้จ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการที่มีการเรียกเก็บชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ 283,332 ราย จ่ายเงินชดเชย ฯ ไปทั้งสิ้น 1,349.86 ล้านบาท
5.2 การบริหารจัดการกองทุนพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ มีหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่มีศักยภาพเป็นศูนย์แพทย์ชุมชน (Community Medical Unit: CMU) แบบมีแพทย์ประจำ จำนวน 158 แห่ง และแบบมีแพทย์ดูแล เครือข่าย จำนวน 127 แห่ง บุคลากรสายวิชาชีพต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ปีละ 200 คน พยาบาลเวชปฏิบัติ 1,000 คน เจ้าหน้าสาธารณสุข 800 คน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป ได้ให้บริการบำบัดทดแทนไต (1) ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนไต หรือการฟอกเลือดเฉพาะรายที่ไม่สามารถล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องได้ ทั้งรายใหม่และรายเก่า ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมจ่าย (2) ผู้ป่วยฟอกเลือดรายเก่าไม่สมัครใจล้างไตผ่านทางช่องท้อง จะให้การอุดหนุนโดยให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายหนึ่งในสามของค่าบริการ (ผู้ป่วยร่วมจ่ายไม่เกิน 500 บาท และ สปสช.จ่าย 1,000 บาท ต่อครั้ง) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2551
6. ปัญหาอุปสรรค
งบประมาณที่ได้รับยังไม่เพียงพอ ภาระงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราการใช้บริการของประชาชนโดยเฉพาะในหน่วยบริการภาครัฐ ภาระการดูแลประชากรที่ไม่ได้สัญชาติไทยชัดเจน รวมถึงความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข และประสิทธิภาพของระบบ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2552 --จบ--