สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 15- 22 มิถุนายน 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 24, 2009 11:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ระหว่างวันที่ 15-22 มิถุนายน 2552 โดยสรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน (ระหว่างวันที่ 15-22 มิถุนายน 2552) ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 15-22 มิถุนายน 2552)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ และจังหวัดสุโขทัย รวม 7 อำเภอ 20 ตำบล 136 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5,236 ครัวเรือน 16,879 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 1 หลัง โรงเรียน 1 แห่ง วัด 1 แห่ง พื้นที่การเกษตร 3,400 ไร่ บ่อปลา 60 บ่อ ถนน 32 สาย สะพาน/คอสะพาน 88 แห่ง ฝาย 8 แห่ง แยกเป็น

1) จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. วันที่ 18 มิถุนายน 2552 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 135.0 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ตำบลบ้านด่านนาขาม (หมู่ที่ 7) และตำบลน้ำริด (หมู่ที่ 1,2,3) อำเภอลับแล ตำบลแม่พูล (หมู่ที่ 2,6,7,11) ตำบลฝายหลวง ตำบลนานกกก ตำบลชัยจุมพล ตำบลทุ่งยั้ง ตำบลไผ่ล้อม เทศบาลตำบลหัวดงและเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,500 ครัวเรือน 4,370 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ความเสียหาย บ้านเรือนราษฎรเสียหายทั้งหลัง 1 หลัง ถนน 1 สาย คอสะพาน 6 แห่ง ฝาย 2 แห่ง สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลตำบลหัวดง หน่วยทหารในพื้นที่ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด อส. มูลนิธิ อปพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 300 คน ได้นำรถบรรทุก เข้าให้ความช่วยเหลืออพยพราษฎรบ้านมหาราช บ้านผาหมอก บ้านด่านห้วยใต้ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จำนวนประมาณ 50 ครัวเรือน มายังวัดศรีอุทุมพร พร้อมกับส่งเครื่องจักรกลของแขวงการทางเข้าเปิดเส้นทางในพื้นที่ที่มีดินสไลด์ทับปิดเส้นทาง สำหรับในพื้นที่อำเภอเมืองได้อพยพราษฎรบ้านด่านนาขาม จำนวน 40 ครัวเรือน ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยไปอยู่ในที่ปลอดภัย โดยราษฎรทั้งหมดได้กลับไปยังบ้านเรือนของตนตามปกติแล้ว (ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 52) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ (นายคณิต เอี่ยมระหงษ์) ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่เทศบาลตำบลหัวดง อำเภอลับแล พร้อมกับดูแลผู้อพยพ แจกจ่ายข้าวกล่อง 3,550 กล่อง น้ำดื่ม 4,000 ขวด และได้มอบเงินช่วยเหลือราษฎรที่บ้านถูกน้ำพัดเสียหายทั้งหลังแล้ว

อนึ่ง ปริมาณน้ำที่ไหลจากตำบลแม่พูล อำเภอลับแล ได้ไหลลงสู่ตำบลทุ่งยั้ง และตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล ปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลแรงทำให้คันคลองชลประทานพังทลายหลายจุด โดยน้ำได้ไหลเข้าท่วมถนนในหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลทุ่งยั้ง และตำบลไผ่ล้อมหลายจุด ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่จัดวางกระสอบทรายตามแนวคลองชลประทาน จำนวน 10,000 กระสอบ พร้อมกับเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ท่วมขังลงสู่บึงมายต่อไป ระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

2) จังหวัดแพร่ เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. วันที่ 18 มิถุนายน 2552 ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังชิ้น ตำบลนาพูน (หมู่ที่ 1,2,10) อำเภอเด่นชัย ตำบลห้วยไร่ (หมู่ที่ 1-10) และอำเภอลอง ตำบลต้าผามอก (หมู่ที่ 7) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,977 ครัวเรือน 6,427 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 เวลาประมาณ 05.00 น. น้ำป่าได้ไหลหลากท่วมทางรถไฟ ระหว่างสถานีรถไฟปางต้นผึ้ง จังหวัดอุตรดิตถ์กับสถานีรถไฟห้วยไร่ ตำบลห้วยไร่ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ทำให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ไม่สามารถเดินทางได้นั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการซ่อมแซมทางรถไฟที่ชำรุด เสียหายและสามารถเปิดเดินรถสายเหนือได้ตามปกติตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ในวันเดียวกัน

การให้ความช่วยเหลือ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ อปพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกให้ความช่วยเหลือราษฎร ที่ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น พร้อมกับมอบเครื่องอุปโภคบริโภค ถุงยังชีพ 1,000 ถุง ข้าวกล่อง 1,000 กล่อง และน้ำดื่ม 6,000 ขวด

3) จังหวัดสุโขทัย เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. วันที่ 18 มิถุนายน 2552 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 161.5 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสัชนาลัย ตำบลบ้านตึก (หมู่ที่ 6-9,12) และตำบลดงคู่ (หมู่ที่ 1,5,6,9) และอำเภอทุ่งเสลี่ยม ตำบลกลางดง (หมู่ที่ 2,3,7,11) ตำบลทุ่งเสลี่ยม (หมู่ที่ 1-8,10) ตำบลไทยชนะศึก (หมู่ที่ 1-4,9) ตำบลเขาแก้วศรีสมบูรณ์ (หมู่ที่ 1,4,5,7-10) ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล (หมู่ที่ 3,5) ราษฎรได้รับความ เดือดร้อน 1,759 ครัวเรือน 6,082 คน ความเสียหาย โรงเรียน 1 แห่ง วัด 1แห่ง พื้นที่การเกษตร 3,400 ไร่ บ่อปลา 60 บ่อ ถนนลูกรัง 20 สาย สะพาน/คอสะพาน 78 แห่ง ฝาย 4 แห่ง สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

การให้ความช่วยเหลือ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ อปพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยและเร่งสำรวจความเสียหายแล้ว พร้อมกับมอบเครื่องอุปโภคบริโภค ถุงยังชีพ 1,000 ถุง ที่วัดบ้านห้วยไคร้ ตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัย

1.2 การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น และเร่งสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ ฯ (งบ 50 ล้านบาท) แล้ว

2. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 21-27 มิถุนายน 2552

2.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 21-22มิถุนายน 2552 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบนยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนกระจายส่วนมากทางด้านตะวันตกของประเทศและภาคตะวันออก ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร จากนั้นในช่วงวันที่ 23-27 มิถุนายน 2552 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมเริ่มมีกำลังอ่อนลงและร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและ มีฝนตกหนักบางพื้นที่

อนึ่ง พายุโซนร้อน “หลิ่นฟ้า” ในทะเลจีนใต้ตอนบนจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกค่อนทางเหนือเข้าใกล้ประเทศจีนตอนล่าง และเกาะไต้หวันต่อไป

2.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศให้จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ