บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-กาตาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 24, 2009 12:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-กาตาร์ และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. กาตาร์ได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูง (HJC) แทนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (JC) ที่อยู่ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และวิชาการ ไทย-กาตาร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามไปแล้วเมื่อปี 2542 เนื่องจากตามระบบของกาตาร์นั้น หัวหน้าคณะกรรมาธิการร่วมจะเป็นรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจเท่านั้น มิใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกาตาร์จึงประสงค์ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะ เพื่อขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการเจรจาทุกประเด็นที่เกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งกาตาร์เห็นว่าจะมีประโยชน์ในการหารือกันของทั้งสองฝ่าย

2. ปัจจุบันกาตาร์ได้เพิ่มบทบาทนำในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในด้านต่างๆ มากขึ้น กล่าวคือ

2.1 เป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ AL Jazeera และประสบความสำเร็จในการเป็นผู้เจรจาสันติภาพในกรณีเลบานอนและดาร์ฟูร์

2.2 เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากรัสเซียและอิหร่าน

2.3 เป็นประเทศที่มีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก และยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Cooperation Council for the Arab States of the Gulf)

3. ไทยและกาตาร์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด โดยในปี 2553 ไทยและกาตาร์จะร่วมฉลองครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ทั้งนี้ กาตาร์มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และสนับสนุนบทบาทไทยในเวทีประชาคมมุสลิมระหว่างประเทศ

4. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศได้ขยายตัวขึ้นอย่างกว้างขวาง จากสถิติพบว่ามีแรงงานไทยทำงานอยู่ในกาตาร์ประมาณ 15,000 คน และในปี 2551 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวกาตาร์เดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลและท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 10,000 คน นอกจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Qatar Gas ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติหลักของกาตาร์ได้ลงนามในข้อตกลงก่อนการลงนามในสัญญาซื้อขาย (Head of Agreement) ว่ากาตาร์จะจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas-LNG) ให้ไทยในปริมาณ 1 ล้านเมตริกตันต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มส่งให้ไทยได้ในปี 2554

5. กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่า บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูง เพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ ในความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-กาตาร์ จึงไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากส่วนราชการเจ้าของเรื่องสามารถปฏิบัติได้ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับโดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ก็ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ