คณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาประชาคมยุโรป — อาเซียนระยะที่ 3 (ECAP III) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ แล้วมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบเอกสารสัญญา (Financing Agreement) โครงการความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาประชาคมยุโรป — อาเซียนระยะที่ 3 (โครงการ ECAP III) โดยมอบหมายให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามแทนประเทศไทยและมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการต่อไป
2. เห็นชอบการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange letter) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปประจำประเทศไทยและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อยืนยันเรื่องเอกสิทธิของสำนักงานโครงการที่ตั้งอยู่ ณ ประเทศไทยว่าเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิพิเศษของผู้เชี่ยวชาญภายใต้โครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อกิจกรรมความ ร่วมมือของประชาคมยุโรป ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2534 (Memorandum of Understanding relating to the privileges for experts under EC funded cooperation activities in Thailand of August 9,1991) และความตกลงแม่บทระหว่างประชาคมเศรษฐกิจยุโรปกับรัฐบาลไทย ลงนามเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2524 และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็น ผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าว ทั้งนี้ โดยให้กระทรวงพาณิชย์รับไปดำเนินการตรวจสอบในเรื่องเอกสารสิทธิต่างๆ ของสำนักงานโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะดำเนินการเพื่อให้มีผลผูกพันต่อไป
3. เห็นชอบการดำเนินการของไทยต่อรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ส่งเอกสารสัญญาในข้อ 1 และหนังสือแลกเปลี่ยนในข้อ 2 ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า
1. กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดทำโครงการความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนกับประชาคมยุโรป มาตั้งแต่ปี 2536 โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง 2 ระยะ คือ โครงการ ECAP I ระหว่างปี 2536-2540 และโครงการ ECAP II ระหว่างปี 2544-2549 โดยมีสำนักงานโครงการตั้งอยู่ ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
2. โครงการ ECAP II สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องกันว่า ควรจัดทำโครงการในระยะที่ 3 (ECAP III) เนื่องจากโครงการ ECAP ทั้งสองระยะที่ผ่านมาเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างยิ่ง ในการนี้ประชาคมยุโรปจึงได้ว่าจ้างคณะผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินผลโครงการในระยะที่ 2 และสำรวจความต้องการของอาเซียน พร้อมจัดทำร่างเอกสารสัญญาโครงการ (Financing Agreement) เสนอให้ประเทศอาเซียนพิจารณา
3. ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันพิจารณาปรับแก้ไขร่างเอกสารสัญญาโครงการมาอย่างต่อเนื่อง และได้เห็นชอบร่างเอกสารดังกล่าวแล้ว
4. สำนักงานประชาคมยุโรปประจำประเทศไทยได้ยื่นหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange letter) ถึงกระทรวงพาณิชย์ ขอยืนยันในเรื่องเอกสิทธิของสำนักงานโครงการว่าจะยังคงได้รับเอกสิทธิเช่นเดียวกับที่เคยได้รับในระหว่างการดำเนินโครงการระยะที่ 2 (ECAP II) หรือไม่ ทั้งนี้ โดยเอกสิทธิที่เคยได้รับภายใต้โครงการในระยะที่ผ่านมา เป็นเอกสิทธิในด้านจัดจ้าง/ซื้อ ที่ได้รับยกเว้นภาษี สำหรับการจัดจ้างหรือจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์จากผู้ขายในประเทศ รวมทั้งเอกสิทธิของผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว ในการพำนักอยู่ในประเทศไทย ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการ
5. กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้หารือเบื้องต้นกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศแล้วได้ข้อสรุปว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระดับรัฐบาลกับรัฐบาล จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน และโดยที่เป็นความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 วรรคสองด้วย และร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นหนังสือสัญญา ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสองก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เอกสารสัญญาโครงการเป็นการลงนามระหว่างผู้แทนประชาคมยุโรปและเลขาธิการอาเซียน
2. โครงการมีระยะเวลา 78 เดือน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะดำเนินโครงการ 54 เดือน และระยะตรวจสอบและประเมินผล 24 เดือน งบประมาณโครงการจำนวน 5.1 ล้านยูโร โดยเป็นการสนับสนุนจากประชาคมยุโรปจำนวน 4.5 ล้าน ยูโรและสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป 600,000 ยูโร
3. องค์ประกอบของกิจกรรมแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่
3.1 องค์ประกอบที่ 1 การสร้างศักยภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อการบังคับใช้ในข้อกำหนดทางทรัพย์สินทางปัญญาและข้อบังคับในอาเซียน
3.2 องค์ประกอบที่ 2 การพัฒนาเนื้อหาด้านกฎหมายและการบริหารจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคอาเซียน ให้กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเกิดความสมานฉันท์ในมาตรฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญา
3.3 องค์ประกอบที่ 3 การใช้ทรัพย์สินทางปัญญาฐานะที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน
3.4 องค์ประกอบที่ 4 การขยายโครงสร้างในการศึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา การฝึกอบรมและการวิจัยของหน่วยงานภายในเครือข่ายการทำงานพื้นฐานของภูมิภาคอาเซียน
3.5 องค์ประกอบที่ 5 พัฒนาศักยภาพของสำนักงานเลขาธิการแห่งอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือ ควบคุมดูแลและประสานงานตามนโยบายในภูมิภาคและการขยายการทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญารวมถึงความช่วยเหลือในการสร้างหน่วยงานในอาเซียน
3.6 มีสำนักงานโครงการตั้งอยู่ ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2552 --จบ--