สรุปสถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม - 16 ตุลาคม 2549 (ครั้งที่ 17)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday October 18, 2006 11:11 —มติคณะรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย  โดยสำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน 
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและประสานการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือกับจังหวัดที่ประสบภัยกองทัพทุกเหล่าทัพ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เกิดสถานการณ์อุทกภัยเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย (วันที่ 27 สิงหาคม — 16 ตุลาคม 2549) ดังนี้
1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม—16 ตุลาคม 2549)
1.1 พื้นที่ประสบภัย รวม 46 จังหวัด 290 อำเภอ 19 กิ่งอำเภอ 1,729 ตำบล 9,601 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,452,563 คน 638,966 ครัวเรือน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม นครนายก ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา และกรุงเทพมหานคร
1.2 ความเสียหาย
1) ผู้เสียชีวิต 56 คน จังหวัดเชียงใหม่ 7 คน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 คน จังหวัดลำปาง 2 คน จังหวัดสุโขทัย 7 คน จังหวัดพิษณุโลก 7 คน จังหวัดนครสวรรค์ 1 คน จังหวัดเพชรบูรณ์ 1 คน สิงห์บุรี 1 คน จังหวัดอ่างทอง 4 คน จังหวัดพิจิตร 1 คน จังหวัดปราจีนบุรี 5 คน จังหวัดจันทบุรี 4 คน จังหวัดปทุมธานี 2 คน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 9 คน จังหวัดชัยภูมิ 1 คน จังหวัดอุบลราชธานี 1 คน และจังหวัดพังงา 1 คน สูญหาย 2 คน (จังหวัดเชียงใหม่ 1 คน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 คน)
2) ด้านทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 44 หลัง เสียหายบางส่วน 8,005 หลัง ถนน 3,347 สาย สะพาน 263 แห่ง ท่อระบายน้ำ 385 แห่ง ทำนบ/ฝาย/เหมือง 463 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตร 1,836,418 ไร่ บ่อปลา/กุ้ง 19,559 บ่อ วัด/โรงเรียน 466 แห่ง ความเสียหายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสำรวจ
3) มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นเท่าที่สำรวจได้ประมาณ 305,289,193 บาท (ไม่รวมทรัพย์สินและบ้านเรือนของประชาชน)
2. สถานการณ์ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ต.ค. 2549)
2.1 พื้นที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 30 จังหวัด
2.2 พื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 16 จังหวัด เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านพื้นที่สูงกว่าตลิ่ง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ปราจีนบุรี และกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1) จังหวัดในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน รวม 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ ริมแม่น้ำ และพื้นที่การเกษตรในที่ลุ่มที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ได้แก่
- จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางระกำ 9 ตำบล อำเภอพรหมพิราม 9 ตำบล อำเภอเมือง 1 ตำบล อำเภอวัดโบสถ์ 6 ตำบล
- จังหวัดสุโขทัย จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง 6 ตำบล อำเภอกงไกรลาศ 11 ตำบล
- จังหวัดพิจิตร จำนวน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง 11 ตำบล 1 เทศบาล (เทศบาลตำบลท่าฬ่อ) อำเภอสามง่าม 4 ตำบล อำเภอวชิรบารมี 4 ตำบล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง 7 ตำบล อำเภอโพทะเล 9 ตำบล อำเภอตะพานหิน 10 ตำบล 1 เทศบาล (เทศบาลเมืองตะพานหิน) อำเภอบึงนาราง 5 ตำบล และ อำเภอบางมูลนาก 9 ตำบล
- จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง 16 ตำบล 1 เทศบาล (เทศบาลนครนครสวรรค์) อำเภอชุมแสง 11 ตำบล 1 เทศบาล (เทศบาลตำบลทับกฤช) อำเภอเก้าเลี้ยว 5 ตำบล อำเภอโกรกพระ 8 ตำบล 2 เทศบาล (เทศบาลตำบลโกรกพระ และเทศบาลตำบลบางประมุง) อำเภอพยุหะคีรี 7 ตำบล อำเภอบรรพตพิสัย 13 ตำบล 1 เทศบาล (เทศบาลตำบลบรรพตพิสัย) และอำเภอท่าตะโก 10 ตำบล
2) จังหวัดชัยนาท มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 8 ตำบล 1 เทศบาล อำเภอสรรพยา มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา 7 ตำบล 2 เทศบาล ระดับน้ำสูงประมาณ 1.20-1.60 ม. อำเภอหันคา มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนเกือบทุกตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.70-1.20 ม.
3) จังหวัดอุทัยธานี มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรังเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 1 เทศบาล 9 ตำบล อำเภอหนองขาหย่าง น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้วและแม่น้ำสะแกกรัง เอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ 6 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.60-1.20 ม.
4) จังหวัดสิงห์บุรี มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี 6 ตำบล 1 เทศบาล (เทศบาลตำบลอินทร์บุรี) ระดับน้ำสูงประมาณ 1.20-1.50ม. อำเภอพรหมบุรี 6 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 1.20-1.70 ม. อำเภอท่าช้าง 4 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.40-0.60 ม.และอำเภอเมืองฯ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 ตำบล 1 เทศบาล (เทศบาลเมืองสิงห์บุรี) ระดับน้ำสูงประมาณ 1.20-2.00 ม.
5) จังหวัดอ่างทอง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยมีระดับสูงขึ้น ท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 10 ตำบล และเทศบาลเมืองอ่างทอง แนวกั้นน้ำในเขตเทศบาลพังหลายจุดทำให้น้ำในเขตตำบลศาลาแดงขยายกว้างขึ้น และมีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 0.60-1.50 ม. อำเภอป่าโมก มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 7 ตำบล 1 เทศบาล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.40-1.20 ม. อำเภอไชโย มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 7 ตำบล 2 เทศบาล (เทศบาลตำบลจระเข้ร้อง เทศบาลตำบลเกษไชโย) ระดับน้ำสูงประมาณ 1.00-1.20 ม. อำเภอแสวงหา มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 4 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50-0.80 ม. อำเภอวิเศษชัยชาญ มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 12 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.80-1.20 ม. อำเภอโพธิ์ทอง น้ำจากแม่น้ำน้อยท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 15 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50-1.50 ม. อำเภอสามโก้ มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 5 ตำบล ระดับสูงประมาณ 0.50-0.80 ม.
6) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก มีระดับสูงขึ้นท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลเข้าท่วมในพื้นที่ 18 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 1.00-1.40 ม. อำเภอบางบาล น้ำในแม่น้ำน้อยท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตร 16 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 1.10-1.40 ม. อำเภอบางไทร น้ำในแม่น้ำน้อยท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 23 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.80-1.20 ม. อำเภอผักไห่ ระดับน้ำในแม่น้ำน้อยท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 16 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 1.10-1.65 ม. อำเภอเสนา มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 10 ตำบล และเทศบาลเมืองเสนา ระดับน้ำสูงประมาณ 0.70-1.25 ม. อำเภอมหาราช มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 5 ตำบล ระดับน้ำสูง 0.70-1.80 ม.
7) จังหวัดลพบุรี มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่าน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก และจากน้ำเหนือเขื่อนป่าสัก ฯ ล้นตลิ่งใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าวุ้ง อำเภอบ้านหมี่ อำเภอเมือง อำเภอชัยบาดาล อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง อำเภอลำสนธิ และ อำเภอโคกสำโรง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50-1.00 ม.
8) จังหวัดสระบุรี น้ำจากแม่น้ำป่าสักเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง 4 ตำบล อำเภอวิหารแดง 2 ตำบล อำเภอหนองแค 1 ตำบลอำเภอเสาไห้ 4 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10-0.40 ม. และอำเภอบ้านหมอ 3 ตำบล 1 เทศบาล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.80 -1.00 ม.
9) จังหวัดสุพรรณบุรี มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำท่าจีน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง 16 ตำบล อำเภอบางปลาม้า 14 ตำบล อำเภอสามชุก 7 ตำบล และอำเภอศรีประจันต์ 9 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.70-1.80 ม.
10) จังหวัดปทุมธานี น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณสูงขึ้นเนื่องจากน้ำทางเหนือได้ไหลหลาก ลงมาทำให้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ มีน้ำท่วมพื้นที่ 8 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30-0.50 ม. อำเภอสามโคก มีน้ำท่วมพื้นที่ 10 ตำบล และเทศบาลตำบลบางเตย ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50-1.00 ม. อำเภอคลองหลวง มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 7 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50-0.70 ม. อำเภอธัญบุรี มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 1 ตำบล 2 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลเมืองรังสิต บริเวณ หมู่บ้านสร้างบุญ ตลาดสุชาติรังสิต และหมู่บ้านรัตนโกสินทร์สองร้อยปี เทศบาลตำบลธัญบุรี มีน้ำท่วมขังภายในชุมชนคลองขวาง ชุมชนเคหะรังสิตคลอง 6 และชุมชนคลองหก และตำบลบึงยี่โถ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10-0.20 ม. อำเภอลำลูกกา มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 8 ตำบล 3 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลเมืองคูคต เทศบาลตำบลลำลูกกา เทศบาลตำบลลำไทร ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.40 ม. อำเภอลาดหลุมแก้ว มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร 6 ตำบล และเทศบาลตำบลระแหง ระดับน้ำสูง 0.50-1.00 ม.
11) จังหวัดนนทบุรี แม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้นประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนจึงทำให้น้ำเอ่อล้นไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มและบ้านเรือนราษฎรริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งลำคลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมือง อำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อย อำเภอบางใหญ่ และ อำเภอบางกรวย
12) จังหวัดปราจีนบุรี น้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี 7 ตำบล และเทศบาลตำบลกบินทร์ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50-0.90 ม. อำเภอศรีมหาโพธิ 5 ตำบล และเทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.40-0.70 ม. อำเภอศรีมโหสถ 4 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.30 ม. อำเภอเมืองฯ 11 ตำบล 2 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลโคกมะกอก และเทศบาลนาปรือ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.70-1.60 ม. และอำเภอประจันตคาม 2 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30-0.50 ม.
13) กรุงเทพมหานคร ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ระบายเข้าทุ่งฝั่งตะวันออกมีปริมาณมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ ดังนี้
- เขตลาดกระบัง มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 37 ชุมชน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.50 ม.
- เขตมีนบุรี มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 11 ชุมชน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10-0.50 ม.
- เขตหนองจอก มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 21 ชุมชน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.50 ม.
- เขตลาดพร้าว มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 1 ชุมชน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10 ม.
- เขตคลองสามวา มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 24 ชุมชน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10-0.30 ม.
- เขตสะพานสูง มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ถนน 2 สาย ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10-0.20 ม.
- เขตสายไหม มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 ชุมชน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10-0.40 ม.
และท่วมชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ นอกแนวคันกั้นน้ำใน 11 เขต 33 ชุมชน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,111 ครัวเรือน
3. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (ข้อมูลวันที่ 16 ต.ค. 2549)
- เขื่อนภูมิพล ปริมาตรน้ำในอ่าง ฯ 13,307 ล้าน ลบ.ม. (รับได้อีก 155 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น ร้อยละ 99 ของความจุอ่าง ฯ ทั้งหมด
- เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาตรน้ำในอ่าง 9,443 ล้าน ลบ.ม. (รับได้อีก 67 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น ร้อยละ 99 ของความจุอ่าง ฯ ทั้งหมด
4. ปริมาณน้ำเจ้าพระยาที่ทำให้เกิดอุทกภัยเปรียบเทียบปี 2538, 2545 และ 2549
ที่ ปริมาณน้ำ ปี 2538 ปี 2545 ปี 2549 หมายเหตุ
ไหลผ่าน ลบ.ม./วาที ลบ.ม./วาที ลบ.ม./วาที
(16 ต.ค.49)
1 นครสวรรค์ 4,820 3,886 5,850 ปัจจัยน้ำท่วม กรุงเทพฯ
2 เขื่อนเจ้าพระยา 4,557 3,930 4,030 ขึ้นกับปริมาณน้ำจากเขื่อน
(5 ต.ค. 2538) (10 ต.ค. 2545) (16 ต.ค. 2549) พระรามหกที่จะทำให้น้ำท่วม
3 เขื่อนพระรามหก 1,473 1,216 759 มากหรือน้อย
4 อำเภอบางไทร 5,451 4,288 4,789
หมายเหตุ น้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,500 ลบ.ม./วินาที ทำให้ท่วมตั้งแต่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาทและตลอดสองฝั่งริมแม่น้ำจนถึงสมุทรปราการ
5. แนวโน้มสถานการณ์อุทกภัย
5.1 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไป ร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงที่พาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกจะค่อยๆเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้และอ่าวไทย ลักษณะดังกล่าวจะทำให้บริเวณที่มีฝนตกหนาแน่นเลื่อนลงไปอยู่บริเวณภาคใต้ตอนบน และเข้าสู่ฤดูมรสุมของภาคใต้ จนถึงกลางเดือนมกราคม 2550
5.2 สภาพน้ำเจ้าพระยา (วันที่ 16 ตุลาคม 2549) มีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 5,850 ลบ.ม./วินาที ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท 4,030 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนพระรามหก 759 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรอยุธยามีจำนวน 4,789 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ลุ่มต่ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่
5.3 เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์มีน้ำ 99 เปอร์เซ็นต์ของความจุ และยังมีน้ำไหลลงอ่างฯ วันละกว่า 100 ล้านลบ.ม. จำเป็นต้องระบายออก ปัจจุบัน (15 ต.ค.49) ระบายรวม 69 ล้านลบ.ม. กับน้ำที่ท่วมขังในภาคเหนือตอนล่างยังมีปริมาณเกือบ 3,000 ล้าน ลบ.ม. ทำให้สถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีระดับน้ำสูงขึ้น เท่ากับหรือมากกว่าเมื่อคราวเกิดอุทกภัยปี 2538
5.4 กรมชลประทาน ต้องผันน้ำลงทุ่งเพื่อรองรับปริมาณน้ำดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ทุ่งโผงเผง บางบาล ผักไห่ เจ้าเจ็ด มหาราช ทุ่งภูเขา และทุ่งมะขามหย่อง และแก้มลิงอื่นๆ เช่น ทะเลสาปบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี บึงพระรามเก้า จังหวัดปทุมธานี เพื่อลดระดับน้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับปี 2545 และบริหารจัดการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อควบคุมมิให้น้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกินกว่าแนวป้องกันที่จังหวัดตอนล่างทำไว้ที่ระดับ + 2.70 ม. รทก.
5.5 ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2549 น้ำทะเลหนุน + 1.17-1.20 เมตร รทก. ซึ่งจะเป็น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่น้ำเหนือปริมาณกว่า 4,000 ลบ.ม./วินาที จะถึงกรุงเทพฯ ทำให้พื้นที่นอกคันป้องกันมีน้ำท่วมสูงขึ้น
6. สิ่งของพระราชทาน ( ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2549)
6.1) เมื่อวันที่ 11-13 ตุลาคม 2549 มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการนำของรองเลขาธิการ (นายดิสธร วัชโรทัย) และคณะฯ มอบถุงยังชีพพระราชทาน 4,000 ชุด โดยมอบที่จังหวัดอ่างทอง 2,000 ชุด และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2,000 ชุด จังหวัดนครสวรรค์ 2,000 ชุด
6.2) เมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคม 2549 จังหวัดปทุมธานีได้รับมอบถุงยังชีพพระราชทานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ ศูนย์ชุมชนเด็กเล็ก เทศบาลตำบลบางกระดี จำนวน 800 ชุด
6.3) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย นำถุงยังชีพพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 250 ชุด และชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยช่วยผู้ประสบภัย จำนวน 750 ชุด มอบให้แก่ ตำบลบางกระบือ อำเภอเมือง และตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
6.4) ในวันที่ 13 ต.ค.49 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทยมีพระราชเสาวนีย์ให้สภากาดชาดไทย โดยนายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย และ พลโทนายแพทย์ อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย จัดชุดธารน้ำใจ สภากาชาดไทย ไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จำนวน 1,500 ชุด
6.5) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2549 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย นำครัวเคลื่อนที่สำหรับประกอบอาหารพร้อมรับประทานแก่ผู้ประสบอุทกภัยและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน รองรับได้มื้อละ 1,000 ชุด จำนวน 2 มื้อ โดยปฏิบัติงานที่สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง
6.6) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2549 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภออินทร์บุรี และอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี และติดตาม “โครงการนำร่องช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้วัดเป็นศูนย์กลาง” ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยได้ประทานถุงยังชีพแก่ผู้พิการ คนชรา และประทานนมผงเด็กอ่อน รวมทั้งเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการโรคร้ายแรงที่มากับน้ำ
7. การตรวจเยี่ยมราษฎรผู้ประสบภัย
7.1 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ) อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายอนุชา โมกขะเวส) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปตรวจสถานการณ์อุทกภัยและเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดอ่างทอง และในพื้นที่อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี พร้อมแจกจ่ายถุงยังชีพให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัยจุดละ 500 ชุด
7.2 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอารีย์ วงศ์อารยะ) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ) อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายอนุชา โมกขะเวส) พร้อมคณะเดินทางไปตรวจสถานการณ์อุทกภัยที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มอบสิ่งของช่วยเหลือ จำนวน 3,000 ชุด และเดินทางเข้าประชุมฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย ของจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับผู้บัญชาการทหารบก/ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน) ณ ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง หลังเสร็จการประชุมไปตรวจสภาพพื้นที่ และการปฏิบัติงานของทหารในเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง จากนั้นเดินทางไปยังมัสยิดดารอยน์ ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา มอบอาหารฮาราล และเงินให้กับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการประจำมัสยิด รวม 22 หน่วยงาน และมอบถุงยังชีพ จำนวน 1,000 ชุด
7.3 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอารีย์ วงศ์อารยะ) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ) อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายอนุชา โมกขะเวส) พร้อมด้วยคณะเดินทางไปตรวจสถานการณ์อุทกภัยที่ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มอบสิ่งของช่วยเหลือ จำนวน 500 ชุด และรับฟังบรรยายสุรปสถานการณ์อุทกภัยจากผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอธิบดีกรมชลประทาน จากนั้นได้ตรวจแนวคันป้องกันน้ำท่วมของเทศบาลนครนนทบุรี และได้ลงเรือตรวจสภาพลำน้ำเจ้าพระยา จากท่าน้ำนนทบุรีถึงท่าเทียบเรือสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
7.4 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอารีย์ วงศ์อารยะ) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ) อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายอนุชา โมกขะเวส) พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจการระบายน้ำและฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำ ณ เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ พร้อมกับมอบสิ่งของช่วยเหลือ จำนวน 1,000 ชุด จากนั้นเดินทางตรวจเยี่ยมพร้อมมอบสิ่งของให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยที่อพยพมาอยู่บริเวณบึงบอระเพ็ด จำนวน 100 ชุด
7.5 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอารีย์ วงศ์อารยะ) พร้อมคณะ ได้เดินทางไปรับฟังบรรยายสรุปและตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ กรุงเทพมหานครที่เขตลาดกระบัง เขตหนองจอก ลงเรือตรวจสภาพน้ำในคลอง 14 รวมทั้งมอบสิ่งของช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย
7.6 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2549 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายบัญญัติ จันทน์เสนะ) และคณะแม่บ้านมหาดไทย เดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยได้มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัย จำนวน 1,000 ชุด
8. การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ของกระทรวงมหาดไทย
8.1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมกำลังเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของศูนย์เขตต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูบูรณะในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย อาทิเช่น รถกู้ภัยอเนกประสงค์ เครื่องจักรกลชุด/ซ่อมสร้างทาง 91 คัน/เครื่อง รถผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด 2 คัน เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ 154 ลำ เต็นท์ที่พักชั่วคราว 177 หลัง พร้อมเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ 560 คน และได้สนับสนุนถุงยังชีพให้แก่จังหวัดแจกจ่ายผู้ประสบภัยแล้ว 63,500 ชุด
สำหรับเครื่องจักรกล เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์อีกจำนวนหนึ่ง เตรียมความพร้อมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่คาดว่าจะประสบอุทกภัยในระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2549
8.2 ได้ขออนุมัติกระทรวงการคลัง ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย
เงินทดรองราชการฯ ให้หน่วยทหารทุกเหล่าทัพที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ เบิกจ่ายเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น สำหรับยานพาหนะ เครื่องจักรกล ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน ค่าใช้จ่าย ในการเดินทางสำหรับเจ้าหน้าที่ (กำลังพลทหาร) จากเงินทดรองราชการ (งบ 50 ล้านบาท) ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยมีการประสานกับกระทรวงกลาโหม เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับงบประมาณ ในการช่วยเหลือระหว่างกระทรวงกลาโหมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติตามที่ขอไปแล้ว
8.3 ได้ขออนุมัติกระทรวงการคลังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร ชัยนาทนครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการ (งบ 50 ล้านบาท) ได้นอกเหนือหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติตามที่ขอไปแล้ว
8.4 ได้แจ้งให้จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ประสานกับวิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ ผ่านทางประธานอาชีวะศึกษาจังหวัด ให้จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ นำนักศึกษาออกช่วยเหลือ ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเรือน เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร เช่น รถไถนา เครื่องสูบน้ำ รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รวมทั้งบ้านเรือน ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร
8.5 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2549 ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ตามกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่
8.6 ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ให้เร่งช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเครื่องอุปโภค บริโภค น้ำดื่มและต้องไม่มีพื้นที่ใดที่ประชาชนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส
8.7 จากการที่ปริมาณน้ำเหนือจำนวน 5,000 กว่าลบ.ม./วินาที จะเดินทางถึงจังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ในปลายสัปดาห์นี้ (20-21 ต.ค.49) จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ได้เสริมแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากเดิมที่ทำไว้ 2.50 เมตร เป็น 2.70-2.90 เมตร และบางจุดได้จัดเพิ่มแนวป้องกัน 2 ชั้น รวมทั้ง เร่งพร่องน้ำในคูคลองเพื่อรองรับน้ำเหนือที่กำลังจะมาถึง โดยการสูบระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่ไม่มีน้ำทะเลหนุน
8.8 การประปานครหลวง ได้ดำเนินการป้องกันภาวะน้ำท่วมไหลล้นเข้าคลองประปา โดยเสริมคันดินและกระสอบทราย 150,000 ใบ ตลอดแนวคลอง โดยเฉพาะบริเวณช่วง รังสิตเหนือ-บางหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อป้องกันน้ำจากทุ่งบางพูน และนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี ไหลลงคลองประปา ได้ทำคันกั้นน้ำไว้แล้ว โดยใช้ความสูงของระดับน้ำท่วมปี 2538 เป็นเกณฑ์ สำหรับบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ทำแนวป้องกันโดยวางกระสอบทรายและก่ออิฐบล็อกกั้นบริเวณโรงสูบน้ำ และได้เตรียมเครื่องสูบน้ำกับชุดนายตรวจแนวคลอง ตรวจเฝ้าระวังแนวคันดินตลอด 24 ชั่วโมง
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ