ของบกลางเพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของโรคไข้หวัดในสุกร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2009 10:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการติดตามเฝ้าระวังโรคไข้หวัดสุกรในประเทศไทย ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ เสนอ โดยสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงิน 15,327,000 บาท

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ รายงานว่า

1. คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ได้มีการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมในการดำเนินงานเฝ้าระวังโรคไข้หวัดในสุกร ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้

2. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณวงเงิน 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยมิได้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายที่จะดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดสุกร

3. ในส่วนของมาตรการในการดำเนินการควบคุม ป้องกันเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในสุกร มีดังนี้

3.1 มาตรการป้องกันเชื้อปนเปื้อนจากต่างประเทศ โดยให้ชะลอและเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าสุกรและซากสุกรจากต่างประเทศ

3.2 จัดตั้ง war room กรมปศุสัตว์ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์โรคและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3.3 การทำความเข้าใจและให้ความรู้ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร โดยให้มีการปรับปรุงการเลี้ยงและการสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะ ให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ปีกในบริเวณเดียวกับที่เลี้ยงสุกรเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการรวมพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกกับไข้หวัดสุกร แนะนำให้เกษตรกรที่ป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจหลีกเลี่ยงการเข้าในคอกเลี้ยงสุกร และหากพบสัตว์ป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่โดยเร็ว

3.4 มาตรการติดตามเฝ้าระวังโดยกรมปศุสัตว์ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเครือข่ายอาสาปศุสัตว์ลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังทางอาการของสุกร หากพบสุกรมีอาการผิดปกติให้เก็บตัวอย่างตรวจสอบ พร้อมทั้งติดตามการเคลื่อนย้ายสุกรจากระบบ E — service (เป็นระบบบริการเกษตรกรในการขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ข้ามจังหวัดผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถทราบจำนวนสัตว์แต่ละชนิดที่มีการเคลื่อนย้ายไปโรงฆ่าหรือเพื่อไปจำหน่ายในแต่ละวัน เพื่อเป็นข้อมูลในการควบคุม ป้องกันโรค และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้)

3.5 ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อบูรณาการแนวทางทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการเตรียมการที่จะดำเนินโครงการติดตามเฝ้าระวังโรคไข้หวัดสุกรในประเทศไทย

4. จากการที่มีรายงานการติดต่อของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากคนไปยังสุกรในประเทศแคนาดา ประกอบกับมีหลักฐานทางวิชาการพบว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างสุกรและคนได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรทั่วประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดสุกร โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างจากสุกรทั่วประเทศเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัส

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ