คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดคำนิยาม เช่น วัตถุออกฤทธิ์ วัตถุตำรับ วัตถุตำรับยกเว้น ฉลาก การบำบัดรักษา และหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น (ร่างมาตรา 4)
3. กำหนดไม่ให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารายงานการรับ การจ่าย การเก็บรักษา และวิธีการปฏิบัติอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ต่อคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 5)
4. กำหนดให้วัตถุออกฤทธิ์แบ่งเป็น 4 ประเภท และให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการในการระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ (ร่างมาตรา 7)
5. กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ องค์ประชุมและอำนาจหน้าที่คณะกรรมการ (ร่างมาตรา 8 ถึงร่างมาตรา 13)
6. กำหนดการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 โดยห้ามมีการผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกเว้นแต่ได้รับ ใบอนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็น (ร่างมาตรา 14)
7. กำหนดการควบคุมดูแลวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยห้ามมีการผลิต นำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตเฉพาะกรณีจำเป็นหรือเป็นผู้ได้รับมอบหมาย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการหรือเป็นการผลิตเพื่อส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีประกาศระบุชื่อ (ร่างมาตรา 15)
8. กำหนดการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 โดยห้ามมีการผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตและผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 20 และร่างมาตรา 22)
9. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับคำขอ การดำเนินกิจการของผู้รับอนุญาต คณะกรรมการ และกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 (ร่างมาตรา 164 ถึงร่างมาตรา 167)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 --จบ--