ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 13:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) รองประธานคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เสนอ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) รองประธานคณะกรรมการฯ รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 กุมภาพันธ์ 2552) นั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ฯ ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีวิสัยทัศน์ให้เศรษฐกิจไทยอยู่บนพื้นฐานการสร้างสรรค์ (creative economy) สามารถพึ่งพาตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลกภายในปี พ.ศ. 2555 และมอบหมายฝ่ายเลขานุการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยสรุปสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์สร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา

เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาของไทยโดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลกและในสาขาที่ตลาดต้องการ โดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

1.1 ส่งเสริมการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากการวิจัยและพัฒนาพื้นฐานและการต่อยอดนวัตกรรม โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น

1.2 สนับสนุนการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม

1.3 พัฒนาฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาทั้งของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรทางชีวภาพ เพื่อให้นักวิจัย นักประดิษฐ์ ทั้งของรัฐและเอกชนเข้าถึงได้

1.4 ส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนา และผลิตสินค้าและบริการที่ไทยมีศักยภาพบนพื้นฐานการสร้างสรรค์

1.5 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าต้นแบบ (prototype) ที่พร้อมเข้าสู่ และเป็นไปตามความต้องการของตลาด

1.6 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องวิจัย ทดลอง เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา

2. ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์

เพื่อให้ทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยได้รับการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง พัฒนาเป็นสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ โดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

2.1 บูรณการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง

2.2 สนับสนุนการสร้าง และพัฒนาสินค้าและบริการให้สามารถทำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการสร้างตรา (branding) ให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญา และจับคู่ธุรกิจด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ

2.3 ส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

2.4 จัดตั้งองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในงานที่คนไทยมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ เช่น ภาพยนตร์ เพลง และหนังสือ

3. ยุทธศาสตร์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

เพื่อสร้างระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เหมาะสม และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาระบบการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรชีวิภาพ โดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

3.1 ปรับองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นองค์กรพึ่งพาตนเองได้ เพื่อให้สามารถบริหารงานได้อย่างเป็นอิสระ คล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด

3.2 พัฒนาระบบการตรวจสอบและจดทะเบียนสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง โดยปรับปรุงคู่มือแนวทางการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบเพื่อให้ผลการตรวจสอบมีคุณภาพ กระบวนการตรวจสอบมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมีระบบการควบคุมคุณภาพการตรวจสอบที่เป็นที่ยอมรับ

3.3 พัฒนากฎหมายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้เหมาะสมกับระดับการพัฒนาประเทศ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่จะช่วยให้ทรัพย์สินทางปัญญาไทยได้รับการคุ้มครองที่ดีขึ้นในต่างประเทศ

3.4 พัฒนากฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรชีวภาพของไทย และผลักดันให้ให้หลักการคุ้มครองดังกล่าวได้รับการยอมรับในระดับสากล

4. ยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

4.1 บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จริงจัง และต่อเนื่อง

4.2 ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายกับผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างรวดเร็ว และนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับมาใช้ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดการทำลายของกลางละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง

4.3 พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัย และเท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

4.4 พัฒนา ปรับปรุง และบูรณาการระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สามารถติดตาม และประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.5 ร่วมมือกับต่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในต่างประเทศ และป้องกันไม่ให้มีการส่งสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากต่างประเทศมาไทย

5. ยุทธศาสตร์การปลูกจิตสำนึก และการศึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา

เพื่อให้คนไทยมีค่านิยมและจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาและพัฒนาระบบการศึกษาในการสร้างจิตสำนึกของเด็กและเยาวชน ตลอดจนสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

5.1 พัฒนาหลักสูตร และระบบการศึกษาระดับเด็กและเยาวชนของไทย เพื่อให้มีจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา

5.2 เสริมสร้างค่านิยม จริยธรรมของคนไทย ให้มีจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

5.3 พัฒนาหลักสูตร และระบบการศึกษาของไทย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ทั้งการสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา การตรวจสอบ/ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

5.4 เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมเพื่อให้คนไทยในทุกระดับมีจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา และหล่อหลอมให้ใช้สติปัญญา ความคิด สร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญา

6. ยุทธศาสตร์ด้านการเงินการคลัง

เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างสวรรค์ การคุ้มครอง การปราบปรามการละเมิดและนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

6.1 กำหนดมาตรการด้านการเงินการคลัง ที่สนับสนุนการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาทั้งระบบ ครบวงจร ซึ่งรวมถึงการสร้างสรรค์ การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยทั้งในและต่างประเทศ

6.2 สนับสนุนการร่วมทุนกับต่างประเทศ และการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาไทย

6.3 สนับสนุนการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพย์สินทางปัญญา ยอมรับทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักประกันการกู้ยืม หรือสินทรัพย์ในการทำธุรกิจ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ