ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 11/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 13:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 11/2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการ รศก. ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอ ดังนี้

1. รายงานสถานการณ์การเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการ

กระทรวงการคลังรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ของส่วนราชการ และผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2552 สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญ

1.1 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 วงเงิน 1,835,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้นจำนวน 1,249,956.26 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 68.12 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.88 แต่ใกล้เคียงกับอัตราการเบิกจ่ายในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อน แยกเป็น

1) รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้วจำนวน 1,044,603.00 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.49 ต่ำกว่าเป้าหมาย ร้อยละ 3.03

2) รายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้วจำนวน 205,353.26 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.18 สูงกว่าเป้าหมาย ร้อยละ 3.18

1.2 สาเหตุของการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหน่วยงานมีการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำต่ำกว่าเป้าหมาย ได้แก่ กระทรวงกลาโหม สามารถเบิกจ่ายงบประมาณการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ได้เพียงร้อยละ 34.51 ของงบประมาณรายจ่ายประจำที่ได้รับ นอกจากนี้ งบประมาณที่จังหวัดได้รับจัดสรรเป็นปีแรกทั้ง 75 จังหวัด ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ จำนวน 8,075.20 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน จำนวน 10,204.26 ล้านบาท เบิกจ่ายได้เพียง 6,868.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.57

1.3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 วงเงิน 116,700 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม — 26 มิถุนายน 2552 มีการเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 53,638.77 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.96 ของวงเงินทั้งหมด โดยโครงการที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ (1) โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากร ภาครัฐ (ร้อยละ 95.86) (2) โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน (ร้อยละ 86.49) และ (3) โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี (ร้อยละ 82.28)

1.4 สำหรับโครงการที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร มีจำนวน 7 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (2) โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ (3) โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย (4) โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน (5) โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการจัดการน้ำ ขุดลอกคูคลอง (6) โครงการก่อสร้างทางภายในหมู่บ้านเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และ (7) โครงการด้านพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือประชาชน

มติคณะกรรมการ รศก.

รับทราบผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการภายใต้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

2. แนวทางการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 และการกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ....

กระทรวงการคลัง รายงานแนวทางการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 และการกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.... ดังนี้

สาระสำคัญ

2.1 พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินได้จำนวน 400,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินกู้เพื่อชดเชยเงินคงคลังจำนวน 200,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อสนับสนุนโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 200,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ด้านการคลังเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าวงเงินที่จะต้องกู้มาชดเชยเงินคงคลังตามพระราชกำหนดฯ อาจต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ โดยการกู้เงินเพื่อชดเชยเงินคงคลัง อาจอยู่ในระดับ 100,000 - 120,000 ล้านบาท

2.2 สำหรับการกู้เงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งซึ่งต้องกู้เงินประมาณ 600,000 ล้านบาทนั้น จะดำเนินการกู้เงินในปี 2552 ประมาณ 30,000 ล้านบาท ปี 2553 ประมาณ 170,000 ล้านบาท ปี 2554 ประมาณ 200,000 ล้านบาท และปี 2555 ประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่ต้องใช้สำหรับสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ในขณะนี้อยู่ในระดับ 540,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศ กระทรวงการคลังจะพิจารณาการกู้เงินจากต่างประเทศสำหรับสนับสนุนการดำเนินโครงการ ทั้งนี้การกู้เงินตามพระราชกำหนดฯ และพระราชบัญญัติฯ นั้น จะพิจารณาตามความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลาต่อไป

2.3 สำหรับแนวทางการดำเนินการจะใช้เงินกู้ภายในประเทศจากธนาคารพาณิชย์อายุ 1-3 ปีเป็นหลัก สำหรับในช่วงการเบิกจ่ายเงินลงทุน หลังจากนั้นจะทำการออกพันธบัตร และพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อปรับอายุเงินกู้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลต่อไป

มติคณะกรรมการ รศก.

รับทราบแผนการกู้เงินตามพระราชกำหนดฯและพระราชบัญญัติฯ ทั้งนี้ แผนการกู้เงินดังกล่าวยังมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการบริหารจัดการการกู้เงินที่เหมาะสมต่อไป

3. โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน

กระทรวงการคลัง เสนอขอให้คณะกรรมการ รศก. พิจารณาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน ดังนี้

สาระสำคัญ

3.1 โครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน เป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงในกรอบความร่วมมืออาเซียน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ โครงการทำเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุตสาหกรรมอาเซียนประเทศไทย โดยการจัดตั้งองค์กรผู้ถือหุ้นของฝ่ายไทย และการร่วมทุนของประเทศสมาชิกอาเซียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์พื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement)

3.2 ปัจจุบัน การดำเนินโครงการดังกล่าวยังขาดความชัดเจนในการได้รับประทานบัตรจากหน่วยงานราชการ ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และการได้รับประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม และประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง มีหนี้สินค้างชำระเป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท และไม่สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้

3.3 กระทรวงการคลังเสนอขอรับการสนับสนุนให้โครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนดำเนินการต่อไป รวมทั้งอนุมัติแนวทางการแก้ไขปัญหาบริษัท เหมืองแร่โปแตช จำกัด (มหาชน) โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนการเปิดพื้นที่และประทานบัตรตามกฎหมาย จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ หากยังไม่มีนโยบายหรือความชัดเจนว่า โครงการเหมืองแร่ฯ จะได้รับอนุญาตการเปิดพื้นที่และได้รับประทานบัตรฯ เห็นควรยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนดังกล่าวโดยยุบเลิกบริษัทและชำระบัญชีต่อไป

มติคณะกรรมการ รศก.

เห็นควรให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปพิจารณากำหนดตารางเวลาการพิจารณาอนุญาตเปิดพื้นที่เหมือง และสร้างความชัดเจนของมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อรวมเป็นต้นทุนโครงการและประกอบการพิจารณาโครงการ ก่อนที่กระทรวงการคลังจะพิจารณาปรับโครงสร้างบริษัทต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินโครงการต้องสอดคล้องกับขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและการยอมรับของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่

4. การพัฒนาระบบขนส่งทางราง ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการดำเนินงาน

กระทรวงคมนาคม รายงานความก้าวหน้าการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ทั้งในส่วนการพัฒนาระบบรถไฟ แบะการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญ

4.1 การพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ ประกอบด้วย 3 แนวทางได้แก่

1) การดูแล รักษาและเชื่อมต่อเส้นทางเดิมเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ประกอบด้วย (1) การก่อสร้างทางคู่ ซึ่งขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างก่อสร้างทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา —ศรีราชา —แหลมฉบัง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาเดือนกันยายน 2553 และการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟรางคู่ เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ ระยะที่ 1 (2) การแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ — ถนนทั่วประเทศ ประมาณ 2,400 จุด (3) การซ่อมบำรุงคันทาง และเสริมความแข็งแรงของทาง ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างขั้นตอนนำเสนอโครงการปรับปรุงทางระยะที่ 5 ช่วงแก่งคอย - แก่งเสือเต้น - สุระนารายณ์ - บัวใหญ่-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 308 กม. และโครงการปรับปรุงทางระยะที่ 6 ช่วงชุมทางบัวใหญ่-หนองคาย ระยะทาง 278 กม. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติดำเนินการ และ (4) การจัดหารถจักรและรถบรรทุกตู้สินค้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการจัดหาจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ และรถบรรทุกตู้สินค้า

2) การพัฒนาและก่อสร้างโครงข่ายระบบรถไฟขนาดรางมาตรฐาน เพื่อตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งในภูมิภาคปัจจุบันประเทศจีนให้ความสำคัญสูงกับการพัฒนาระบบรถไฟเพื่อการขนส่งสินค้า โดยพื้นที่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ ดังนั้น โอกาสที่จีนจะพิจารณาแนวเส้นทางขนส่งใหม่ลงมาทางใต้เพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดียได้อย่างรวดเร็วจะมีมากขึ้น ที่สำคัญในขณะนี้ 6 มณฑลที่สำคัญของจีนด้านตะวันตกที่ห่างไกลจากฝั่งทะเล ได้แก่ มณฑลกานซู่ ชิงไห่ ส่านซี เสฉวน กุ้ยโจว ยูนนาน และ 5 เขตปกครองตนเอง (ซินเจียง หนิงเซี่ย ทิเบต กวางสี และมองโกเลีย) และ 1 มหานคร ได้แก่ ฉงซิ่ง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีทางรถไฟจากคุนหมิงเชื่อมต่อจากลาวมายังประเทศไทย แต่มีเส้นทางรถยนต์ (R 3E) เชื่อมต่อถึงกรุงเทพฯ ระยะทาง 1,863 กม. และมีระยะทางถึง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ประมาณ 918 กม. จึงเห็นควรศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงเด่นชัย — เชียงราย — เชียงของ ระยะทาง 306 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับจีนทางอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

3) การพัฒนาและก่อสร้างระบบรถไฟด่วนระหว่างเมืองไปสู่หัวเมืองหลักของประเทศ สร้างทางเลือกในการเดินทางของประชาชนระหว่างเมืองในรัศมี 200 -300 กม. จากกรุงเทพฯ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ชม. โดยในระยะแรกได้กำหนดไว้ 4 เส้นทาง ได้แก่นครราชสีมา นครสวรรค์ หัวหิน และจันทบุรี

4.2 โครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง และระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

1) โครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ

  • โครงการที่เริ่มการก่อสร้างงานโยธา จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ —

ตลิ่งชัน เริ่มก่อสร้างงานโยธา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 มีความคืบหน้าร้อยละ1.8

  • โครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดเตรียมการก่อสร้างงานโยธาจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการรถไฟฟ้า

สายสีม่วง ช่วง บางซื่อ — บางใหญ่ (2) โครงการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ช่วง บางซื่อ — ท่าพระ — บางแค และ

ช่วง หัวลำโพง — ท่าพระ (3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วง หมอชิต — สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง —

สมุทรปราการ และ (4) โครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ — รังสิต

  • โครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ — หัวลำโพง และบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก

2) การพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนในระยะต่อไป

  • ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน (พ.ศ. 2553 -

2572) มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2552 และมีโครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี

พิจารณา จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียวเข้ม ช่วงสะพานใหม่-ลำลูกกา และช่วง

อ่อนนุช — สมุทรปราการ

  • นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดโครงการ จำนวน 2

โครงการ ได้แก่ (1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางบำหรุ —ศูนย์วัฒนธรรม — บางกะปิ — มีนบุรี และ (2)

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย — ปากเกร็ด — มีนบุรี

มติคณะกรรมการ รศก.

1) รับทราบสถานะการดำเนินงานการพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ และการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และให้ รฟม. ดำเนินการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายตามขั้นตอน เนื่องจากคาดว่าจะทราบผลการเจรจาเงินกู้กับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นภายใน 1 เดือน

2) การพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการดังนี้

  • เร่งดำเนินการก่อสร้างทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา — ศรีราชา — แหลมฉบัง และจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าและรถบรรทุกตู้สินค้า

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้ว พร้อมทั้งเร่งจัดเตรียมโครงการใหม่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อนำเสนอคณะ

รัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายในปี 2553

  • ศึกษาวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ทั้งในด้านขนาดราง และเส้นทาง

ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ

  • เร่งทำความเข้าใจกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยจะต้องยึดเป้าหมายการเปิดให้บริการ

รถไฟฟ้าสายสุวรรณภูมิภายในเดือนธันวาคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักลงทุน

4.3 โครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง และระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เห็นควรให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อใช้เป็นกรอบในการศึกษาความเหมาะสมในรายโครงการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ