เรื่อง เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 และการประชุมอาเซียน
ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 16
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 จำนวน 2 ฉบับ และร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) ครั้งที่ 16 จำนวน 4 ฉบับ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองร่างเอกสารข้างต้นกับประเทศที่เกี่ยวข้องในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 วันที่ 20 กรกฎาคม 2552 และการประชุม ARF ครั้งที่ 16 วันที่ 23 กรกฎาคม 2552
2. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
3. เห็นชอบให้ยกเลิกชั้นความลับของเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนรับรองเอกสารเหล่านี้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 วันที่ 20 กรกฎาคม 2552
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า
1. ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และการประชุม ARF ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบอาเซียนที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนมีภารกิจต้องจัดการประชุม
2. รัฐมนตรีต่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมข้างต้นจะต้องให้ความเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ที่จะนำสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม 2552 และเอกสารผลลัพธ์ที่รัฐมนตรีต่างประเทศที่เกี่ยวข้องจะให้การรับรองมีจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่
2.1 เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งรับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่
2.1.1 ร่างแผนงานอาเซียนว่าด้วยการคงไว้และยกระดับความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN Work Plan on Maintaining and Enhancing ASEAN Centrality) เป็นเอกสารเพื่อให้อาเซียนคงไว้ซึ่งการเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้ขับเคลื่อนสภาพยุทธศาสตร์ทางภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยแผนงาน การระดมทรัพยากรเพื่อดำเนินการตามแผนงาน และการติดตามและรายงานการดำเนินการ รวมทั้งเป้าหมายและแนวทางทางยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน
2.1.2 ร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (Terms of Reference of and ASEAN Human Rights Body) เป็นข้อตกลงลูกที่จัดทำขึ้นตามพันธกรณีตามข้อ 14 ของกฎบัตรอาเซียน มีสาระกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการอำนาจหน้าที่ องค์ประกอบและวิธีการดำเนินงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งมีหน้าที่หลักคือ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในหมู่ประชาชนการสร้างเสริมศักยภาพของรัฐ การพัฒนาบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค การจัดทำรายงานด้านกิจกรรมและประเด็นเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน การรับข้อมูลจากประเทศสมาชิก การให้คำปรึกษาแก่องค์กรอาเซียน และการปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดให้มีการทบทวนร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ฯ เมื่อครบกำหนด 5 ปีนับจากวันที่มีผลบังคับใช้ เพื่อเปิดช่องให้มีการพัฒนาองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่อ ๆ ไปได้ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเคยเสนอกรอบการเจรจาของร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาพิจารณา ซึ่งที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาดังกล่าวพร้อมข้อสังเกต ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้นำไปผลักดันในการเจรจายกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ฯ แล้ว
2.2 เอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ARF ครั้งที่ 16 จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศจำนวน 26 ประเทศ และ 2 องค์กรในระดับภูมิภาคจะให้การรับรอง ได้แก่
2.2.1 ร่างถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ของที่ประชุม ARF (ARF Vision Statement) เป็นเอกสารริเริ่มโดยประเทศไทยในฐานะประธานการประชุม ARF ปัจจุบัน ที่กำหนดแนววิธีการ การยกระดับความร่วมมือเพื่อการปฏิบัติการ และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิติของประเทศผู้เข้าร่วมการประชุม ARF เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.2.2 ร่างเอกสารการปรับปรุงวิธีการทำงานของการประชุม ARF (Improving ARF Working Methods) เป็นเอกสารที่มีข้อเสนอเพื่อปรับปรุงและพัฒนาวิธีการทำงานของที่ประชุม ARF รวมทั้งเปิดโอกาสให้ฝ่ายวิชาการและองค์กรนอกภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
2.2.3 ร่างแผนงานสำหรับการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2552-2553 (ARF Work Plan on Counter Terrorism and Transnational Crime) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของที่ประชุม ARF ในด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติที่ครอบคลุมทุกมิติและมีความเชื่อมโยงกับเวทีอื่นนอกภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับยาเสพติด การก่อการร้ายทางชีวภาพและความมั่นคงทางชีวภาพ และความมั่นคงทางคอมพิวเตอร์และการก่อการร้ายทางคอมพิวเตอร์
2.2.4 ร่างแผนงานสำหรับการบรรเทาภัยพิบัติ พ.ศ. 2552-2554 (ARF Work Plan on Disaster Relief) เป็นเอกสารเพื่อเตรียมความพร้อม โดยการเสริมสร้างการประสานงาน การเชื่อมโยงความพยายามการสนับสนุนความช่วยเหลือด้านเทคนิค และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของประเทศผู้เข้าร่วมการประชุม ARF ในการบรรเทาภัยพิบัติให้ทันต่อเหตุการณ์และดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์
3. กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าวข้างต้นเป็นร่างเอกสารผลลัพธ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการกระชับความร่วมมือ โดยเฉพาะการดำเนินงานเพื่อให้กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ รวมทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของประเทศที่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีผลในการก่อให้เกิดพันธกรณีหรือผลทางกฎหมายต่อประเทศไทย และเป็นการลงมติรับรองโดยไม่มีการลงนาม จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนในเชิงนโยบาย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 --จบ--