คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดก่อน ได้มีมติอนุมัติหลักการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2517 (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดให้มีกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรอยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกว่า “กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร” กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเงิน ทรัพย์สิน สิทธิและหนี้สินที่ได้รับโอนจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2517 เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้ ฯลฯ (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)
3. กำหนดให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดชนิดหรือประเภทของผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าต้องเสียค่าธรรมเนียมการส่งออกหรือค่าธรรมเนียมการนำเข้า รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเรียกเก็บและชำระค่าธรรมเนียมการส่งออกหรือการนำเข้า ฯลฯ (ร่างมาตรา 7- ร่างมาตรา 11)
4. กำหนดให้มี “คณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร” โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนของส่วนราชการ ภาคเอกชน และผู้แทนเกษตรกร มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 19 คน (ร่างมาตรา 12-ร่างมาตรา 13)
5. กำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร (ร่างมาตรา 16)
6. กำหนดให้คณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกรมีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนในวงเงิน ไม่เกิน 100 ล้านบาท ถ้าเกินวงเงินจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 19)
7. กำหนดให้กิจการที่จะต้องใช้จ่ายเงินจากกองทุน ได้แก่ กิจการการส่งเสริมการผลิตผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร และการพยุงราคาและการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร (ร่างมาตรา 20)
8. กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือการผลิตผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร จะต้องให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 21)
9. กำหนดให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากกองทุนแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำงบการเงินของกองทุนเพื่อส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ (ร่างมาตรา 22 และร่างมาตรา 23)
10. กำหนดบทลงโทษ ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้ารายใดไม่เสียค่าธรรมเนียม การส่งออกหรือค่าธรรมเนียมการนำเข้า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ตนเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าที่ต้องเสีย มีโทษจำคุกและโทษปรับ หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และให้นำเงินค่าปรับส่งเข้ากองทุน (ร่างมาตรา 24 และร่างมาตรา 25)
11. กำหนดบทเฉพาะกาล ให้โอนเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สินของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2517 มาเป็นกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 26 และร่างมาตรา 27)
12. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร่างมาตรา 28)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 --จบ--