ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2009 11:40 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการ

ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประธานกรรมการ

และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการ และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติเสนอ 4 ข้อดังนี้

1. การกำหนดอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2544 ได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดค่าตอบแทนของประธานกรรมการ กรรมการและอนุกรรมการในภาพรวม โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาร่วมกับสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2545 เห็นชอบการกำหนดค่าตอบแทนของประธานกรรมการและกรรมการองค์กรต่าง ๆ ในภาพรวมตามข้อเสนอของคณะทำงานดังกล่าว ซึ่งหลักการกำหนดค่าตอบแทนของประธาน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2545 โดยกำหนดให้ตำแหน่งประธานกรรมการตรวจการแผ่นดินจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 ซึ่งได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดียวกับประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เงินเดือน 62,000 บาท/เดือน เงินประจำตำแหน่ง 42,550 บาท/เดือน) ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินจึงควรได้รับในอัตราเดียวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เงินเดือน 61,000 บาท/เดือน เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท/เดือน)

สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินปัจจุบัน ให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดียวกับประธานผู้ตรวจการแผ่นดินไปก่อนจนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งจึงให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะดำรงตำแหน่งตามวาระใหม่ได้รับในอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินใหม่

2. การปรับอัตราเงินเดือนผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับการปรับเงินเดือนภาครัฐในระยะที่ผ่านมา

เห็นควรพิจารณาปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐอื่น ตามบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง

3. การปรับปรุงอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตาม รัฐธรรมนูญให้ได้รับเท่ากันทุกองค์กรตามข้อเสนอขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบางแห่ง

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2545 ได้กำหนดหลักการพิจารณาค่าตอบแทนของประธานกรรมการและกรรมการองค์กรต่างๆ โดยการยึดโยงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาค่างานทั่วไปและค่างานเฉพาะ ซึ่งสามารถจำแนกกลุ่มตามผลการประเมินค่างานตามเกณฑ์ดังกล่าวไว้ต่างกัน ค่าตอบแทนจึงต่างกัน จึงมิอาจกำหนดอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ให้เท่ากันได้

4. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีการปรับอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่มีการปรับเพิ่มเป็นร้อยละเท่ากันทุกอัตราให้กระทำได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเช่นเดียวกับที่มีการกำหนดในการปรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญและข้าราชการตุลาการ

เห็นควรเพิ่มบทบัญญัติให้มีการปรับอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่มีการปรับเพิ่มเป็นร้อยละเท่ากันทุกอัตราให้ดำเนินการได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเช่นเดียวกับที่มีการกำหนดในการปรับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้สอดคล้องกับการปรับเงินเดือนตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง

นอกจากนี้ เห็นควรแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยใช้คำว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” แทน “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ทั้งนี้ ให้ส่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการตรวจพิจารณาอีกครั้งโดยด่วน โดยให้รับความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้กำหนดอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินในอัตราเดียวกับประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่น ตลอดจนแก้ไขอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดินให้สอดคล้องกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อื่นด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ