ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 1/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2009 11:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2552 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ กพข. เสนอ โดยสรุปผลการประชุมและมติคณะกรรมการ กพข. ดังนี้

1. แนวทางการทำงานของคณะกรรมการ กพข. ที่ประชุมมีมติดังนี้

1.1 เห็นชอบแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ กพข. ที่จะสนับสนุนคณะรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกำหนดการประชุมคณะกรรมการ กพข. ทุก 3 เดือน ดังนี้

1.1.1 ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์และกำหนดนโยบาย แนวทาง เพื่อปรับปรุงและผลักดัน การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

1.1.2 ทำงานเชื่อมโยงกับคณะกรรมการอื่น โดยยึดโยงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการนั้น ๆ ดำเนินการ เช่น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) เป็นต้น

1.1.3 ขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและ ยังไม่มีเจ้าภาพในการดำเนินการอย่างชัดเจน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

1.2.1 เห็นชอบให้เพิ่มหน้าที่ในการดำเนินงานของคณะกรรมการ กพข. 2 ประการ คือ (1) ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลตัวชี้วัดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยใช้กรอบของ IMD และ WEF และ (2) ศึกษาวิเคราะห์และกำหนดนโยบายแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญกับภาคบริการเพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ โดยใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระยะยาว

1.2.2 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำตารางแสดงความเชื่อมโยงการทำงานของคณะกรรมการ กพข. กับคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการฯ ชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ IMD และ WEF เป็นกรอบ

2. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ประชุมเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวน 32 คน เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ 15 คน หน่วยงานภาคเอกชน 12 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน โดยมีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) เป็นประธาน และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และให้เพิ่มผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นอนุกรรมการ ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ จะมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

2.1 จัดทำยุทธศาสตร์และแผนที่นำทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยตลอดห่วงโซ่มูลค่า

2.2 จัดทำแผนที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย และให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับมาตรการ แผนงาน และโครงการในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

2.3 กำกับ ดูแล และบูรณาการการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

2.4 เสนอแนะและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำโครงการที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ