ขอขยายระยะเวลาดำเนินการมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2009 11:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาการขอขยายระยะเวลาดำเนินการมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. เห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ คือ การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 11,117 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 สำหรับการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เจียดจ่ายจากงบประมาณที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดค่าน้ำให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นของตน

2. เห็นชอบให้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อชดเชยการดำเนินการตามนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ให้กับ กปภ. จำนวน 235.471 ล้านบาท กฟน. จำนวน 57.953 ล้านบาท ขสมก. จำนวน 94.740 ล้านบาท และ รฟท. จำนวน 64.370 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 452.534 ล้านบาท และให้ครอบคลุมถึงภาระค่าเบี้ยปรับซึ่งเกิดจากการชำระค่าซื้อไฟฟ้าเกินระยะเวลาที่กำหนดจากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ที่ กฟภ. จะต้องชำระให้ กฟผ. จำนวน 90.49 ล้านบาท ด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานสรุปผลการดำเนินการของมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน และมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางที่ดำเนินการโดยการประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมทั้งเสนอขยายระยะเวลาดำเนินการมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ดังนี้

1. ผลการดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

1.1 หลักการ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยและประสบปัญหาภาระค่าครองชีพอย่างแท้จริง รวมถึงการสร้าง จิตสำนึกให้ประชาชนมีการใช้บริการสาธารณูปโภคอย่างประหยัดและคุ้มค่า เป็นภาระต่อภาครัฐให้น้อยสุด

1.2 ระยะเวลาดำเนินการ ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552-31 กรกฎาคม 2552 (ประชาชนผู้เช่าอาศัยในอาคารชุดหรือห้องเช่าที่มีระดับราคาเช่าไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน ได้รับสิทธิตามมาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า และน้ำประปา ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552-31 สิงหาคม 2552)

1.3 งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ ให้ภาครัฐสนับสนุนภาระค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552

1.4 สรุปโครงการและผลการดำเนินการตามมาตราดังกล่าว (ตั้งแต่เริ่มมาตรการ-31 พฤษภาคม 2552) สรุปได้ดังนี้

1.4.1 มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน ดำเนินการผ่าน กปน. กปภ. และ อปท. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้น้ำสำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัยที่มีประมาณการใช้น้ำระหว่าง 0-30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์แล้วจำนวน 7.535 ล้านครัวเรือน หากมีการขยายระยะเวลาดำเนินการจะต้องใช้งบประมาณสำหรับ กปน. และ กปภ. โดยเฉลี่ย 651 ล้านบาทต่อเดือน และ อปท. โดยเฉลี่ย 400 ล้านบาทต่อเดือน (ให้ อปท. เจียดจ่ายจากงบประมาณที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดค่าน้ำให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นของตน)

1.4.2 มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน ดำเนินการผ่าน กฟน. และ กฟภ. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์แล้วจำนวน 8.884 ล้านครัวเรือน หากมีการขยายระยะเวลาดำเนินการจะต้องใช้งบประมาณโดยเฉลี่ย 1,260 ล้านบาทต่อเดือน

1.4.3 มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ดำเนินการผ่าน ขสมก. โดยรัฐจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดา จำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทางให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์แล้วจำนวนประมาณ 434,000 คนต่อวัน หากมีการขยายระยะเวลาดำเนินการจะต้องใช้งบประมาณโดยเฉลี่ย 222 ล้านบาทต่อเดือน

1.4.4 มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ดำเนินการผ่าน รฟท. โดยรัฐจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์แล้วจำนวนประมาณ 2.8 ล้านคนต่อเดือน หากมีการขยายระยะเวลาดำเนินการจะต้องใช้งบประมาณโดยเฉลี่ย 90.4 ล้านบาทต่อเดือน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ