รายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2009 13:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบรายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2551 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้

1. ภาพรวมของระบบราชการ ที่สะท้อนขีดสมรรถนะเชิงกายภาพและสัมฤทธิ์ผลของระบบราชการมีดังนี้

1.1 หน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร 4 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ส่วนราชการ มีหน่วยงานในส่วนกลางรวม 174 หน่วยงาน ส่วนภูมิภาค 952 หน่วยงาน และส่วนท้องถิ่น

7,858 หน่วยงาน

ประเภทที่ 2 รัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง

ประเภทที่ 3 องค์การมหาชน 53 หน่วยงาน

ประเภทที่ 4 หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ (หน่วยธุรการขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ 8 แห่ง) จำแนกองค์กรของรัฐ

ตามฐานะการเป็นนิติบุคคลได้รวม 8,206 หน่วยงาน

1.2 กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนจำนวน 1,939,158 คน (รวมตุลาการ อัยการ รัฐสภา หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ และส่วนท้องถิ่น) ประกอบด้วย ข้าราชการ 1,275,350 คน ลูกจ้างประจำ 248,547 คน ลูกจ้างชั่วคราว 196,299 คน พนักงานจ้าง 126,824 คน พนักงานราชการ 92,138 คน โดยมี

  • ข้าราชการฝ่ายพลเรือนในกำกับของฝ่ายบริหาร (ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการส่วนท้องถิ่น) รวม 1,255,984 คน สังกัดราชการส่วนกลาง จำนวน 882,139 คน คิดเป็นร้อยละ 70.23 สังกัดราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น จำนวน 373,845 คน คิดเป็นร้อยละ 29.77
  • ข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 364,486 คน สังกัดราชการส่วนกลาง 152,666 คน คิดเป็นร้อยละ 41.89 สังกัดราชการส่วนภูมิภาค 211,820 คน คิดเป็นร้อยละ 58.11

1.3 รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวน 1,666,000 ล้านบาท เป็นงบรายจ่ายด้านบุคลากรจำนวน 46,137.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.8 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดรองจากงบรายจ่ายอื่นที่มีสัดส่วนร้อยละ 28.6 ขณะที่งบเงินอุดหนุน งบลงทุน และงบดำเนินงาน มีสัดส่วนร้อยละ 25.1 ร้อยละ 11.1 และร้อยละ 9.5 ตามลำดับ

1.4 สมรรถนะในการแข่งขันของระบบราชการไทยเชิงเปรียบเทียบ จากการประเมินขององค์กรอิสระนานาชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยลำดับ เช่น ปี 2552 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 13 จาก 181 ประเทศของประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนประกอบธุรกิจ ดัชนีชี้สภาวะธรรมาภิบาลของไทยตามเกณฑ์ธนาคารโลกพบว่ามิติประสิทธิผลของภาครัฐ และมิติคุณภาพของมาตรการควบคุมมีระดับคะแนนสูงขึ้นต่อเนื่อง อันดับความสามารถในการแข่งขันในประเทศไทย และความพร้อมในการเป็น รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศมีขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสู่ระดับเกณฑ์สากล

2. ความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบราชการไทย

2.1 ผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ จากการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ปรากฏว่า ส่วนราชการและจังหวัด ยังมีคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่าเป้าหมาย ที่กำหนดมาก เช่น ตัวชี้วัดที่ส่วนราชการและจังหวัดทำได้ผลดีมากเกินกว่าค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ยังไม่ได้วัดที่ผลลัพธ์หรือ วัดเชิงคุณภาพซึ่งจะต้องใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้น

2.2 การผลักดันการพัฒนาระบบราชการไทย ให้เป็นองค์การที่มีความพร้อม 4 ด้าน คือ เก่ง ดี มีส่วนร่วม ตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและตรวจสอบการทำงานของระบบ ราชการมากขึ้น ดังนี้

  • ตอบสนองทันต่อความต้องการของประชาชน โดยสนับสนุนส่วนราชการพัฒนาประสิทธิภาพ และคุณภาพการให้บริการ เช่น ลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ พัฒนาศูนย์บริการร่วมเคาน์เตอร์บริการประชาชน พัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยสร้างเครือข่ายสื่อสารภาครัฐเชื่อมโยงไปยังกระทรวง ทบวง กรม ทำให้เกิดระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e — Services) รวม 14 บริการใน 18 กระทรวง 75 จังหวัด
  • พัฒนา รูปแบบ กลไก ระบบ และวิธีทำงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และส่งเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของ เครือข่ายภาคประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการใน 4 ภูมิภาค
  • การพัฒนาระบบการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและโครงการนำร่องการประเมินผลการปฏิบัติราชการโดยกระทรวงเป็นผู้ดำเนินการกับส่วนราชการระดับกรมในสังกัด เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูง ภายใต้หลักการที่ ก.พ.ร. กำหนด โดย ก.พ.ร. เป็นผู้กำกับดูแลและดำเนินการตรวจสอบกระบวนการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ
  • การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อให้องค์กรภาครัฐมีการพัฒนาที่ยั่งยืนและ มีขีดสมรรถนะสูง โดยกำหนดกรอบแนวทางในการประเมินองค์กร และจัดทำแผนพัฒนาส่วนราชการ
  • เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการร่วมมือกับ OECD จัดประชุมนานาชาติ กับ OECD Asian Center for Public Governance แห่งประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันแลกเปลี่ยน ความรู้และประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบราชการแก่ประเทศสมาชิก

2.3 การดำเนินงานขั้นตอนต่อไปของ ก.พ.ร. จะดำเนินการเพื่อรองรับกฎหมายลูกบทที่จะใช้ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การทบทวนบทบาทภารกิจของรัฐ ปรับปรุงระบบการตรวจสอบ และประเมินผลภาคราชการ พัฒนาตัวชี้วัดที่มีเป้าหมายร่วมกันระหว่างกระทรวง และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ เป็นต้น

3. ผลการดำเนินงานของสำนักงาน ก.พ.ร. ประจำปี พ.ศ. 2551 ได้ดำเนินงานโดยมีแผนยุทธศาสตร์ กำลังคนและงบประมาณรายจ่ายของตนเองในฐานะหน่วยงานด้านธุรการที่รับผิดชอบกิจกรรม วิชาการและแผนงาน ภายใต้นโยบายของ ก.พ.ร.

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ