สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 7 — 13 กรกฎาคม 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2009 13:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ อุทกภัย ระหว่างวันที่ 7 - 13 กรกฎาคม 2552 สรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน (ระหว่างวันที่ 7 - 13 กรกฎาคม 2552) ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 7—13 กรกฎาคม 2552)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงา ระนอง สตูล และจังหวัดตรัง รวม 14 อำเภอ 41 ตำบล 197 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 8,831 ครัวเรือน 30,044 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 58 หลัง วัด 1 แห่ง ถนน 45 สาย สะพาน 2 แห่ง บ่อปลา 9 บ่อ แยกเป็น

1) จังหวัดพังงา ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2552 โดยมีปริมาณ ฝนตกเฉลี่ยในพื้นที่ 200-293 มม. ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่

  • อำเภอกะปง 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลกะปง ตำบลท่านา ตำบลเหมาะ ตำบลเหล และตำบลรมณีย์ และดินถล่มทำให้ถนนสายตะกั่วป่า — สุราษฎร์ธานี บริเวณเขาศก กม.ที่ 121 ถูกตัดขาด รถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ หมวดการทางคุระบุรีได้เข้าไปทำการเปิดเส้นทางแล้ว ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
  • อำเภอเมือง 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลทุ่งคาโงก (หมู่ที่ 1-5) ตำบลนบปริง (หมู่ที่ 1,7,8) ตำบล สองแพรก (หมู่ที่ 1-3) ตำบลบางเตย (หมู่ที่ 1-9) และตำบลถ้ำน้ำผุด (หมู่ที่ 2,3) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 45 ครัวเรือน 150 คน ถนนถูกน้ำท่วม 25 สาย สะพาน 2 แห่ง ความเสียหายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสำรวจ
  • อำเภอคุระบุรี 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลคุระ (หมู่ที่ 1-12) ตำบลบางวัน (หมู่ที่ 1-9) ตำบลแม่นางขาว (หมู่ที่ 1-8) และตำบลเกาะพระทอง (หมู่ที่ 1-4) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 554 ครัวเรือน 2,542 คน อพยพราษฎรไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
  • อำเภอตะกั่วทุ่ง 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโคกกลอย (หมู่ที่ 3-6,9,12) ตำบลหล่อยูง (หมู่ที่ 2) ตำบลกระโสม (หมู่ที่ 1) และตำบลกะไหล (หมู่ที่ 1) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 40 ครัวเรือน 220 คน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
  • อำเภอตะกั่วป่า 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลโคกเคียน (หมู่ที่ 2-6) และตำบลบางนายสี (หมู่ที่ 2-5,9) ในเขตชุมชนตลาดเก่าเทศบาลเมืองตะกั่วป่า ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

สถานการณ์ปัจจุบัน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 สุราษฎร์-ตะกั่วป่า บริเวณเขาศก ช่วง กม.113 -117 มีดินถล่มทับเส้นทางไม่สามารถสัญจรไปมาได้ สำหรับบริเวณรอบเขตเทศบาลเมืองตะกั่วป่ายังคงมีน้ำท่วมขังในเขตชุมชนตลาดเก่าและถนนหลายสาย บางแห่งมีน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อส. มูลนิธิ อปพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือราษฎรในเบื้องต้น และอพยพราษฎร อำเภอคุระบุรี จำนวน 230 คน 50 ครัวเรือน ไปอยู่ในที่ปลอดภัย พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย

2) จังหวัดระนอง ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2552 โดยมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยในพื้นที่ 170-310 มม.ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่

  • อำเภอสุขสำราญ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลกำพวน (หมู่ที่ 1-7) และตำบลนาคา (หมู่ที่1-8) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,003 ครัวเรือน 8,812 คน บ้านพักอาศัยเสียหายบางส่วน 2 หลัง กระแสไฟฟ้าดับใช้การไม่ได้ทั้งอำเภอ เนื่องจากเสาไฟฟ้าแรงสูงโค่นล้มหลายต้น
  • อำเภอกะเปอร์ 1 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางหิน (หมู่ที่ 2-5) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 231 ครัวเรือน 500 คน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มการเกษตร ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50 เมตร ถนนและชุมชนที่อำเภอสุขสำราญ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30-0.80 เมตร

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองท้องถิ่น อส. มูลนิธิ อปพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลืออพยพราษฎรตำบลบางหิน มายังศูนย์อพยพหลบภัยโรงเรียนบ้านบางหิน อำเภอกะเปอร์ พร้อมกับดูแลด้านอาหารและน้ำดื่มให้แก่ผู้อพยพ และได้มอบถุงยังชีพ จำนวน 430 ถุง ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัยที่อำเภอสุขสำราญ พร้อมทั้งสนับสนุนเรือท้องแบน จำนวน 5 ลำ

อนึ่ง เนื่องจากสภาวะฝนตกหนัก ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2552 เมื่อเวลา 10.10 น. ได้เกิดเหตุรถกระบะอีซูซุ โฟร์วีล ทะเบียน บค 102 ระนอง ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง เสียหลักพุ่งชนประสานงากับรถสิบล้อ ทะเบียน 70-1235 ชุมพร ซึ่งบรรทุกไม้ยางพารามาเต็มคัน เหตุเกิดบนถนนเพชรเกษม หมู่ที่ 4 ใกล้วัดทับจาก ตำบลบางใหญ่ อำเภอกระบุรี ทำให้ นายสมบัติ ภูฮวด พนักงานขับเครื่องจักรกลขนาดหนัก สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง คนขับรถกระบะเสียชีวิต ซึ่งผู้เสียชีวิตได้รับคำสั่งให้ไปช่วยแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอกระบุรี แต่ยังไม่ถึงที่หมาย สาเหตุเกิดจากสภาพถนนที่ถูกน้ำท่วมขังสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จนทำให้รถเสียหลักพุ่งไปชนกับรถสิบล้อดังกล่าว

3) จังหวัดสตูล ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2552 โดยมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยในพื้นที่ 130-270 มม. ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ 14 ตำบล 95 หมู่บ้าน ได้แก่

  • อำเภอละงู 6 ตำบล 29 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลน้ำผุด (หมู่ที่ 1-11) ตำบลกำแพง (หมู่ที่ 1,5,6,8,9,10) ตำบลเขาขวา (หมู่ที่ 2-5) ตำบลปากน้ำ (หมู่ที่ 4) ตำบลละงู (หมู่ที่ 11,13) และตำบลแหลมสน (หมู่ที่ 1-4,6) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5,560 ครัวเรือน บ้านพักอาศัยเสียหาย 16 หลัง วัด 1 แห่ง ถนน 20 สาย บ่อปลา 9 บ่อ ความเสียหายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสำรวจ
  • อำเภอมะนัง 2 ตำบล 19 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลปาล์มพัฒนา (หมู่ที่ 1-10) และตำบลนิคมพัฒนา (หมู่ที่ 1-9) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 98 ครัวเรือน 290 คน บ้านพักอาศัยเสียหาย 40 หลัง อพยพไปพักบ้านญาติ 40 ครัวเรือน 80 คน ความเสียหายอื่นๆ อยู่ระหว่างการสำรวจ
  • อำเภอควนกาหลง 3 ตำบล 32 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลควนกาหลง (หมู่ที่ 1-11) ตำบลทุ่งนุ้ย (หมู่ที่ 1-12) และตำบลอุใดเจริญ (หมู่ที่1-9) ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
  • อำเภอทุ่งหว้า 3 ตำบล 15 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลทุ่งหว้า (หมู่ที่ 5,7,8,9,10) ตำบลนาทอน (หมู่ที่ 1,2,8) และตำบลป่าแก่บ่อหิน (หมู่ที่ 1-7) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 300 ครัวเรือน 850 คน ความเสียหายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสำรวจ

สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30-0.80 เมตร

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองท้องถิ่น อส. มูลนิธิ อปพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือราษฎรในเบื้องต้น พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย

4) จังหวัดตรัง ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2552 โดยมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยในพื้นที่ 120-180 มม. ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง (ตำบลบางเป้า) และอำเภอปะเหลียน (ตำบลแหลมสอม และตำบลปะเหลียน) ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณถนนและเขตชุมชนในอำเภอทั้ง 3 แห่งระดับน้ำสูงประมาณ 0.80-1.00 เมตร

อนึ่ง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2552 เวลา 11.30 น. เกิดเหตุเรือโดยสารรับส่งนักท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ชื่อ “เรือคชามารีน” ได้ถูกคลื่นซัดอับปาง บริเวณรอยต่อจังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ขณะเดินทางกลับจากส่งนักท่องเที่ยวที่เกาะพีพีแล้วโดยเรือประมงที่ประสบเหตุได้ช่วยเหลือกัปตันและลูกเรือรวม 5 คน และนำไปขึ้นฝั่งที่ท่าเรืออ่าวปอ ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต อย่างปลอดภัยทุกคนแล้ว

2. การสนับสนุนให้ความช่วยเหลือแก่จังหวัดที่ประสบอุทกภัยของหน่วยงาน

  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 (สุราษฎร์ธานี) เขต 12 (สงขลา) ได้ส่งเรือท้องแบน 20 ลำ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ เครื่องมืออุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตรวม 60 นาย เข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูบูรณะในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย แล้ว

3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 12 - 17 กรกฎาคม 2552

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 12 - 17 กรกฎาคม 2552 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่ เสี่ยงภัย ระมัดระวังภัยอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมในทะเล อันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ โดยเรือเล็กในทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย

อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณหัวเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เคลื่อนลงทะเลจีนใต้แล้ว มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้น และจะเคลื่อนเข้าใกล้ประเทศจีนตอนล่างในช่วงวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 พายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศ ให้จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิด น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ