การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2009 14:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติการบริจาคเงินจำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1,750,000 บาท เป็นกรณีพิเศษ โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณปี 2552 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. ที่ประชุมสมัชชา (Conference) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ได้เห็นชอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 ให้คณะประเมินผลอิสระภายนอก (Independent External Evaluation-IEE) ทำการประเมินผลและเสนอแนวทางสำหรับการปฏิรูปองค์การ FAO ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยไม่ให้ใช้เงินงบประมาณปกติ (Regular Budget) ขององค์การ แต่ให้ประเทศสมาชิกช่วยกันบริจาคโดยสมัครใจ (Voluntary Contribution) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการประเมินผล ดังกล่าว เป็นเงินประมาณ 4.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. คณะประเมินผลฯ ได้ทำการประเมินผลในระหว่างเดือนมีนาคม 2549-กันยายน 2550 และได้ให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ ให้จัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (Immediate Plan of Action-IPA) สำหรับปฏิรูปองค์การซึ่งประกอบด้วย การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ แผนระยะปานกลาง และแผนงานและงบประมาณ

3. ที่ประชุมสมัชชา FAO สมัยที่ 35 (สมัยพิเศษ) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ได้ให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วน โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกบริจาคเงินโดยสมัครใจเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานดังกล่าว สำหรับปี 2552 จำนวน 21.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 760 ล้านบาท

4. การดำเนินงานของคณะประเมินผลอิสระ (IEE) ได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยมีประเทศสมาชิกได้บริจาคเงินโดยสมัครใจ จำนวน 33 ประเทศ เป็นจำนวนเงิน 4,656,221 ดอลลาร์สหรัฐ แต่มีการใช้จ่ายเงินไปจริง จำนวน 4,653,902 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น จึงเหลือเงิน 2,319 ดอลลาร์สหรัฐ (ประเทศกำลังพัฒนาที่ร่วมบริจาค ได้แก่ บูกินาฟาโซ สาธารณรัฐเช็ค เอสโทเนีย อินเดีย ลิทัวเนีย มอริเชียส เปรู แทนซาเนีย เนปาล)

5. การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (IPA) คงไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากมีประเทศสมาชิกที่ประกาศจะบริจาคเงิน (pledge) เพียง 18 ประเทศ เป็นจำนวนเงิน 6,272,596 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่จำนวนเงินที่จะต้องใช้จ่ายจริง มีถึง 21.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขณะนี้ (ณ วันที่ 30 มีนาคม 2552) มีประเทศที่บริจาคแล้วเพียง 3,150,831 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น FAO ได้ขอร้องให้ประเทศสมาชิกช่วยบริจาคเงินโดยเร่งด่วน เพื่อมิให้แผนงานปฏิรูปองค์การจะต้องล่าช้าออกไป (ประเทศกำลังพัฒนาที่บริจาคแล้ว ได้แก่ บราซิล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ สโลวาเกีย 44,000 ดอลลาร์สหรัฐ แทนซาเนีย 19,975 ดอลลาร์สหรัฐ)

6. ประเทศไทยยังไม่ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการปฏิรูปองค์การในการระดมทุนตั้งแต่ครั้งแรก ดังนั้น จึงเห็นสมควรที่ประเทศไทยจะร่วมบริจาคสำหรับการระดมทุนครั้งที่ 2 ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนการปฏิรูปองค์การและแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของประเทศไทยแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสภามนตรี FAO (FAO Council) ต่ออีก 1 สมัย ซึ่งไทยจะหมดวาระและสมัครรับเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2552

7. สำหรับจำนวนเงินเห็นสมควรบริจาคในวงเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,750,000 บาท โดยเจียดจ่ายจากเงินงบประมาณปี 2552 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ