คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้กรณีที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนโดยไม่มีการจับ ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ (เพิ่มมาตรา 7 วรรคสอง (ร่างมาตรา 3))
2. กำหนดให้กรณีที่ผู้ต้องหาไม่ถูกควบคุมตัวและพนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขัง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องพร้อมกับการขอให้ศาลออกหมายขัง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 (ร่างมาตรา 4))
3. กำหนดให้การขออนุญาตฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของอัยการสูงสุด (เพิ่มมาตรา 9 วรรคสอง (ร่างมาตรา 5))
4. กำหนดให้กรณีที่ผู้ต้องหาซึ่งมิได้ถูกควบคุมตัวได้ให้การสารภาพตลอดข้อหา ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลโดยไม่ต้องทำการสอบสวนได้ หากผู้ต้องหาไม่ไปพบพนักงานอัยการ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับผู้ต้องหาได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 20 (ร่างมาตรา 6))
5. กำหนดให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอัยการสูงสุด รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้ประธานศาลฎีกาและอัยการสูงสุดมีอำนาจออกข้อบังคับ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 (ร่างมาตรา 7))
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 --จบ--