คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการคลังเสนอว่า
1. กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร พ.ศ. 2547 ที่กรมศุลกากรบังคับใช้เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อนำเงินมาจัดสรรเป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ ตลอดจนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ โดยรัฐบาลมุ่งประสงค์ต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของกรมศุลกากรจากการเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วโดยมิชอบ มาเป็นการเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพ และเกิดความโปร่งใสเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ ลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ในการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ของรัฐ แล้วนำเงินค่าธรรมเนียมฯ ที่จัดเก็บมาจัดสรรเป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และส่วนหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจปล่อย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 10) พุทธศักราช 2483 จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 10 สิงหาคม 2552
2. กรมศุลกากรได้มีการปรับปรุง และพัฒนาวิธีการบริหารและการดำเนินงานปฏิรูปกรมศุลกากรไปสู่องค์กรที่ทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารงาน เพื่อพัฒนากรมศุลกากร โดยได้มีการนำระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Customs) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติงานพิธีการโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเพื่อให้ผู้มาใช้บริการเกิดความพึงพอใจ ประทับใจ อีกทั้งเพื่อเป็นการลดปัญหาการทุจริต และประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานพิธีการทางศุลกากร ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรต้องรับผิดชอบงานในปริมาณที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งการนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการตรวจปล่อยสินค้าทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานและการจัดหา พัฒนา และบำรุงรักษาเครื่องมือเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรสามารถให้บริการและเชื่อมโยงข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ และเพิ่มความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ สมควรกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาจัดสรรเป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ ตลอดจนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหา พัฒนา และบำรุงรักษาเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร
1. กำหนดค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้
1.1 การผ่านพิธีการทางศุลกากรและการตรวจปล่อยสินค้าสำหรับใบขนสินค้า ฉบับละ 200 บาท
1.2 การผ่านพิธีการทางศุลกากรและการตรวจปล่อยสินค้าสำหรับคำร้องขอรับของไปก่อนหรือส่งของออกไปก่อน ฉบับละ 200 บาท
1.3 การบันทึกข้อมูลใบขนสินค้า ใบกำกับการขนย้ายสินค้า คำร้องขอรับของไปก่อนหรือส่งของออกไปก่อนเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร ฉบับละ 70 บาท
2. ยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้
2.1 ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก เป็นส่วนราชการ
2.2 ใบขนสินค้าซึ่งได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ทั้งฉบับ
2.3 ใบขนสินค้าขาเข้าพิเศษหรือใบขนสินค้าขาออกพิเศษที่มีราคาไม่เกิน ฉบับละ 20,000 บาท
2.4 ใบขนสินค้าขาออก ที่มีราคาของไม่เกินฉบับละ 50,000 บาทและทำการส่งออกในเขตพื้นที่รับผิดชอบของด่านศุลกากร
2.5 ใบขนสินค้าผ่านแดน
2.6 ใบขนสินค้าหรือคำร้องที่อธิบดีประกาศกำหนด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 --จบ--