คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการลงทุนของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการคลังเสนอว่า เนื่องจากมาตรา 7 (5) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 บัญญัติให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากสามารถลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือลงทุนในหลักทรัพย์อื่นตามที่คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การลงทุนตามมาตรา 7 (5) ต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบของการลงทุนทั้งหมด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการลงทุนดังกล่าวคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากอาจมอบหมายให้บุคคลใดดำเนินการแทนตามความเหมาะสมก็ได้ ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับมอบหมาย วิธีดำเนินการ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดประเภทหลักทรัพย์ที่สามารถนำเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากและเงินทุนของสถาบันคุ้มครองเงินฝากไปลงทุน ประกอบด้วย
1.1 สัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง (ร่างข้อ 3)
1.2 สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 20 ลงทุนในหลักทรัพย์อื่นตามที่คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี โดยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้ถือปฏิบัติด้วยก็ได้ (ร่างข้อ 4)
2. กำหนดประเภทธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่สามารถทำได้ ดังนี้
2.1 การขายโดยมีสัญญาซื้อคืน
2.2 การซื้อโดยมีสัญญาขายคืน(ร่างข้อ 7)
3. การมอบหมายให้นิติบุคคลนำเงินไปลงทุน คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากอาจมอบหมายให้ นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นำเงินไปลงทุนแทนได้ (ร่างข้อ 6)
4. การตีราคาหลักทรัพย์ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้องและตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากกำหนด (ร่างข้อ 8)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 --จบ--