คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบรายงานของรายงานการศึกษาเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ
2. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเรื่องการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการกับฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม และหลักเกณฑ์การค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า ได้ศึกษาและจัดทำรายงานแนวทางการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานและการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบและให้นำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สาระสำคัญของรายงานการศึกษาเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย
1.1 การจำแนกกลุ่มรัฐวิสาหกิจตามการวัดประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ สามารถแบ่งรัฐวิสาหกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.1.1 กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการและฐานะการเงินดี
1.1.2 กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาในการดำเนินงาน
1.1.3 กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่เริ่มประสบปัญหาในการดำเนินงาน
1.2 ปัญหาการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย
1.2.1 ด้านนโยบาย
1.2.2 ด้านปฏิบัติ
1.2.3 ด้านการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ
1.3 ข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย
1.3.1 กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการกับฝ่ายบริหาร
1.3.2 ฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา
1.3.3 ปรับโครงสร้างการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
1.3.4 ทบทวนบทบาทรัฐวิสาหกิจ
1.3.5 พัฒนาบุคลากร
1.3.6 กำหนดความรับผิดชอบต่อสังคม
2. ความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้ประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจตามที่สำนักงานฯ เสนอ และให้สำนักงานฯ นำเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน ดังนี้
2.1 กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการกับฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน ตามหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจควรทำหน้าที่หลักในการกำหนดทิศทาง นโยบาย กลยุทธ์องค์กร และกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพรวมให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและแข่งขันได้ โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนฝ่ายบริหารควรมีบทบาทและหน้าที่ในการบริหารจัดการองค์กรตามพันธกิจและแผนงานที่กำหนด ทั้งนี้เห็นควรให้บังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชนและ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยทันที สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชนแต่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัด ให้ดำเนินการภายใน 1 ปี ส่วนรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติและรัฐวิสาหกิจทั่วไปควรพิจารณาดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อบังคับของแต่ละรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งปรับปรุงการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานภายใน 2 ปี
2.2 กำหนดให้ทุกรัฐวิสาหกิจต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
2.3 ทบทวนหลักเกณฑ์การค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐมีภาระต้องค้ำประกันอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นควรให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อกรอบการค้ำประกันเงินกู้ของโครงการลงทุนใหม่ โดยกรณีที่รัฐวิสาหกิจประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ รัฐควรชดเชยผลการขาดทุนดังกล่าวโดยจัดตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยให้ทันทีภายหลังสิ้นสุดโครงการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อฐานะการเงินขององค์กร และเป็นการลดภาระการค้ำประกันเงินกู้ของภาครัฐ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 --จบ--