ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 5/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 22, 2009 11:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ กรอ. และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เสนอ

สรุปผลการประชุมและมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้

1. แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทราย โควตา ก. และ โควตา ค.

1.1 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทราย โควตา ก.และ โควตา ค. ดังนี้

1.1.1 ประเด็นราคาน้ำตาลทราย โควตา ก. (ใช้ในประเทศ) มี 3 เรื่อง ได้แก่ (1) ขอให้รัฐบาลพิจารณาลดอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตามปริมาณน้ำตาลทราย โควตา ก. ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 จากอัตรากิโลกรัมละ 5 บาท เป็น 2-3 บาท และให้เจรจาขอขยายเวลาการชำระหนี้กองทุนฯ กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกไปอีกระยะหนึ่ง (2) ขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับลดราคาน้ำตาลทรายโควตา ก. ลงทั้งระบบ (เฉพาะราคาที่ปรับขึ้นกิโลกรัมละ 5 บาท) โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นส่วนแบ่งผลประโยชน์ของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย เมื่อกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้นำเงินอุดหนุนจากการปรับราคาน้ำตาลทรายไปชำระหนี้ ธ.ก.ส. ครบถ้วนแล้ว และ (3) ขอให้ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้บริโภคภาคครัวเรือน เข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้และพิจารณา รวมทั้งนำเสนอข้อมูลและผลกระทบในด้านต่างๆ ต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (คอน.) ในกรณีที่มีการพิจารณาเกี่ยวกับการปรับราคาน้ำตาลทรายในแต่ละครั้ง

1.1.2 ประเด็นกฎระเบียบเกี่ยวกับการขอใช้สิทธิซื้อน้ำตาลทราย โควตา ค. (สำหรับผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก) โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการใช้สิทธิซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค. เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก อาทิ (1) ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อการส่งออก ขอให้พิจารณากำหนดให้การยื่นคำขอรับสิทธิซื้อน้ำตาลทราย โควตา ค. ได้ปีละ 2 ครั้ง จากที่ปัจจุบันสามารถยื่นคำขอรับสิทธิฯ ได้ปีละ 1 ครั้ง (2) ขอให้พิจารณาใช้สูตรมาตรฐานกลางของสินค้าบางชนิดที่สามารถกำหนดสูตรมาตรฐานกลางได้ ในการตรวจวิเคราะห์สูตรอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ ผักและผลไม้อบแห้ง สับปะรดกระป๋อง เงาะกระป๋อง ลำไยกระป๋อง และลิ้นจี่กระป๋อง และ (3) ขอให้ผู้ได้รับสิทธิซื้อน้ำตาลทราย โควตา ค. สามารถขนย้ายน้ำตาลทรายในแต่ละเดือนได้มากหรือน้อยกว่าโควตา ที่ได้รับการอนุมัติในแต่ละเดือน เนื่องจากฤดูกาลของผลไม้ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไม่แน่นอน เป็นต้น

มติคณะกรรมการ กรอ.

1) มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับไปวิเคราะห์ข้อมูลให้ชัดเจนในเรื่องต้นทุนที่แท้จริง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ และแนวทางเลือกเพิ่มเติม โดยให้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และขอให้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

2) เห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ในเรื่องกฎระเบียบเกี่ยวกับการขอใช้สิทธิซื้อน้ำตาลทราย โควตา ค. และมอบหมายคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รับไปปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการขอใช้สิทธิซื้อน้ำตาลทราย โควตา ค. (สำหรับผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก) เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ โดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบนั้นๆ ประกอบการพิจารณา

2. การบังคับใช้พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 กับธุรกิจอพาร์ตเมนต์

2.1 สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสนอที่ประชุมพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ

(1) ให้ความเห็นชอบให้มีการเร่งรัดการจัดระเบียบผู้ประกอบการโรงแรม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่ง ครัด เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่ดำเนินการถูกต้อง ตามมาตรการเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการฟื้นตัว และ (2) ไม่ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสนับสนุนด้านการขาย และการประชาสัมพันธ์ธุรกิจอพาร์ตเมนต์ ที่ผิดพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกรูปแบบ

มติคณะกรรมการ กรอ.

1) มอบหมายกระทรวงมหาดไทยเร่งตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายกับสถานที่พักที่ประกอบธุรกิจขัดต่อพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 รวมทั้งให้เร่งรัดการออกใบอนุญาตสำหรับผู้มายื่นขอใบอนุญาตตามประกาศกฎกระทรวงกำหนดประเภท และหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2551 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดส่งข้อมูลของผู้ประกอบการที่ให้บริการแบบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อจะได้เร่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

2) ขอความร่วมมือให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่อนุญาตให้ข้าราชการและบุคลากรของรัฐเดินทางไปราชการ หรือการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้พักแรมในสถานที่พักที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 รวมทั้งไม่สนับสนุนด้านการขายและการประชาสัมพันธ์ธุรกิจ อพาร์ตเมนต์ที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547

3. การฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67

3.1 คณะกรรมการ กกร. เสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีที่หน่วยงานรัฐถูกฟ้องคดี เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ใน 3 ประเด็น คือ (1) มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดำเนินการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงต่อศาลและผู้เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนและเป็นเอกภาพ (2) ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาออกใบอนุญาตหรืออนุญาตให้ผู้ประกอบการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมได้ต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก โดยผู้ประกอบการพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐจะมีการกำหนดขึ้น และ (3) ออกกฎหมายหรือกำหนดมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง โดยผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนด้านข้อมูลอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่จะมีการกำหนดขึ้น

มติคณะกรรมการ กรอ.

1) รับทราบแนวทางที่หน่วยงานกำลังดำเนินการอยู่ และในการเตรียมข้อมูลชี้แจงต่อศาลกรณีที่หน่วยงานของรัฐถูกฟ้องว่ากระทำการให้ความเห็นชอบหรืออนุญาตรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและออกใบอนุญาตประกอบการไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน วิธีการ ที่กฎหมายกำหนดไว้ และในทางปฏิบัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประชุมหารือกันอย่างรอบคอบให้เกิดความเป็นเอกภาพ

2) โครงการที่ผ่านความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการไปแล้วให้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติต่อไปได้ เนื่องจากถือว่าเป็นโครงการที่ได้ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว

3) สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการของหน่วยงานนั้น ให้หน่วยงานสามารถพิจารณาออกใบอนุญาต หรืออนุญาตให้ผู้ประกอบการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่อไปได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน กระบวนการ กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด

4. ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการส่งออก

4.1 คณะกรรมการ กกร. เสนอที่ประชุมพิจารณาปัญหาเรื่องปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการส่งออกใน 2 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาด้านสภาพคล่อง โดยเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมหารือวิธีการแก้ไขปัญหาด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการส่งออก และเร่งรัดกระบวนการทำงานของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

มติคณะกรรมการ กรอ.

มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปจัดตั้งคณะทำงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เพื่อหารือวิธีการแก้ไขปัญหาด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการส่งออก และเร่งรัดกระบวนการทำงานของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

5. ความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

5.1 กระทรวงการคลัง รายงานภาพรวมการอนุมัติสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (เดือนมกราคม — พฤษภาคม 2552) มีการปล่อยสินเชื่อรวมร้อยละ 25 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2552 จำนวน 92,000 ล้านบาท โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ มีการปล่อยสินเชื่อร้อยละ 36 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 62,000 ล้านบาท และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีการค้ำประกันสินเชื่อ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2552 จำนวน 262 ราย มียอดอนุมัติ 1,156.62 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.85 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2552 จำนวน 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัญหาการดำเนินงานของ ธพว. ในการให้สินเชื่อ SME Power เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ได้แก่ ผู้ประกอบการยังขาดหลักทรัพย์ บุคคล/นิติบุคคลอื่นมาค้ำประกันหรือใช้การค้ำประกันไขว้ผู้กู้ผู้ประกอบการรายเล็กมักไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเพื่อปรับปรุงกิจการไม่สามารถเข้าโครงการได้ ผู้ประกอบการเข้าใจผิดว่ารัฐให้ความช่วยเหลือ โดยไม่ต้องมีการวิเคราะห์สินเชื่อและไม่ต้องใช้หลักประกัน และการรับรองของบางสมาคมจำกัดเฉพาะสมาชิกเท่านั้น สำหรับสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างงาน มีปัญหาในส่วนที่วงเงินสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และปัญหาความเข้าใจของของผู้ประกอบการเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ เป็นต้น

มติคณะกรรมการ กรอ.

1) รับทราบรายงานความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของกระทรวงการคลัง และยืนยันมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 เมษายน 2552 ในการดำเนินโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศ โดยให้จำแนกให้ชัดเจนระหว่างผู้ประกอบการที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มาก่อน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศ ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจจะไม่รับพิจารณาให้ความช่วยเหลือใน โครงการนี้

2) ให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอกู้ภายใต้โครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศ ออกไปอีก 1 ปี จากวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2553

3) ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยพิจารณาเร่งรัดการอนุมัติ และปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ยังเหลืออยู่อีก 639 ราย

4) ให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกระบวนการปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนข้อจำกัดด้านบุคลากรของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบริหาร จัดการมากยิ่งขึ้น และเกิดความสะดวกรวดเร็วในการเบิกจ่าย

5) ให้กระทรวงการคลังพิจารณาการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันการให้บริการสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมที่เหมาะสม สำหรับโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ให้ต่ำกว่าอัตรา ที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน เพื่อช่วยลดภาระด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs

6. ความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ

6.1 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 มิถุนายน 2552 และมติคณะกรรมการ กรอ. วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552 สศช. ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวรวม 8 หน่วยงาน เพื่อหารือเกณฑ์ในการคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวและแนวทางการส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะศึกษารายละเอียด สถานภาพของแหล่งท่องเที่ยว การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก และการคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพรายคลัสเตอร์ เพื่อยกร่างแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ หลังจากนั้นจะสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาการท่องเที่ยว การสำรวจศักยภาพความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวในระดับพื้นที่ และจัดทำรายงานแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ เพื่อเสนอคณะกรรมการ กรอ. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

มติคณะกรรมการ กรอ.

รับทราบความก้าวหน้าและมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ