สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 13 — 20 กรกฎาคม 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 22, 2009 13:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ อุทกภัย ระหว่างวันที่ 13 - 20 กรกฎาคม 2552 สรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน (ระหว่างวันที่ 13 - 20 กรกฎาคม 2552) ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 13 — 20 กรกฎาคม 2552)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงา ระนอง สตูล ตรัง น่าน และจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวม 21 อำเภอ 64 ตำบล 339 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 13,358 ครัวเรือน 53,272 คน เสียชีวิต 1 ราย (จังหวัดพังงา) บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 109 หลัง วัด 1 แห่ง ถนน 128 สาย สะพาน 9 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง ฝาย/ท่อระบายน้ำ 11 แห่ง และบ่อปลา 9 บ่อ

1.2 สถานการณ์ปัจจุบัน ระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่แล้ว

1.3 การให้ความช่วยเหลือ

1.3.1 สิ่งของพระราชทาน

1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดย นายดิสธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหาร และนายประสงค์ พิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิ ฯ เดินทางไปมอบถุงยังชีพพระราชทาน ที่จังหวัดพังงาและจังหวัดสตูล รวม 3,000 ชุด

2) กองงานพระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร มอบถุงยังชีพพระราชทาน ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จำนวน 1,000 ชุด

3) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก มอบสิ่งของสำรองจ่ายและ ถุงยังชีพ ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จำนวน 1,800 ชุด

1.3.2 การสนับสนุนให้ความช่วยเหลือแก่จังหวัดที่ประสบอุทกภัยของหน่วยงาน

  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 (สุราษฎร์ธานี) เขต 12 (สงขลา) ได้ส่งเรือท้องแบน 20 ลำ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ เครื่องมืออุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตรวม 60 นาย เข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูบูรณะในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
  • จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อส. มูลนิธิ อปพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือราษฎร ผู้ประสบภัยโดย มอบถุงยังชีพ จำนวน 11,777 ชุด ข้าวกล่อง 20,552 กล่อง และน้ำดื่ม 35,244 ขวด และอยู่ระหว่างดำเนินการซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ชำรุดเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยใช้จ่ายจากงบทดรองราชการ(งบ 50 ล้านบาท) ในอำนาจของจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ แล้ว

อนึ่ง กรณีที่มีฝนตกหนักระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2552 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ วัดได้สูงสุด 130 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจากระบายไม่ทัน และในพื้นที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด วัดได้สูงสุด 263.6 มม. ทำให้น้ำในคลองไม้ซี้ และในคลองควายแขวน เอ่อล้นตลิ่งท่วมถนนสูง 50 ซม. ปัจจุบัน สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

2. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2552

2.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 19 - 21กรกฎาคม 2552 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และด้านตะวันตกของประเทศ รวมทั้งภาคตะวันออก มีฝนกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนยังคงมีกำลังแรง จากนั้นในช่วงวันที่ 22 — 25 กรกฎาคม 2552 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าวจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง

2.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศ ให้จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิด น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ