ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 22, 2009 13:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15 2. เห็นชอบข้อเสนอแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนแผนงาน GMS และมอบหมายหน่วยงานรับไปดำเนินการ โดยประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า

1. ผลการประชุมอย่างเป็นทางการของระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15 ที่ประชุมได้มีมติดังนี้

1.1 เห็นชอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.1.1 ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ (Strategic and Action Plan for the North-South Economic Corridor-NSEC)

1.1.2 ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (Strategic and Action Plan for the East-West Economic Corridor-EWEC)

1.1.3 กรอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Envelopment Strategic Framework and Action Plan)

1.1.4 แผนที่นำทางการขยายความร่วมมือด้านพลังงาน (GMS Roadmap for Expanding Cooperation in Energy)

1.1.5 แผนงานการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนในอนุภูมิภาค (Work Program for GMS Investment Cooperation)

1.2 รับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินงาน 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1.2.1 แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ปี 2551-2555 (Vientiane Plan of Action 2008-2012)

1.2.2 รายงานผลการประชุมความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

1.2.3 ความก้าวหน้าและความจำเป็นในการเร่งรัดการดำเนินงานตามความตกลงขนส่งข้ามพรมแดน (Cross Border Transport Agreement -CBTA)

1.2.4 รายงานผลการดำเนินงานของภาคเอกชน ซึ่งเสนอให้จัดตั้งสมาคมผู้ประกอบการขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Freight Transport Association) และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS’s SME Development Fund)

1.3 เห็นชอบให้เร่งรัดความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคและสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันในช่วงที่โลกต้องประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

1.4 เห็นชอบแผนงานที่มีลำดับความสำคัญสูงในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2553-2555) 3 เรื่อง ได้แก่

1.4.1 การปฏิบัติตามความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้ เกิดผลเป็นรูปธรรม

1.4.2 การพัฒนาแนวเส้นทางขนส่งให้เป็นแนวพื้นที่เศรษฐกิจ

1.4.3 การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

1.5 เห็นชอบวิสัยทัศน์ของแผนงาน GMS หลังปี 2555 ที่จะร่วมมือกันสร้างอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้มีเสถียรภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมพึ่งพาตนเองได้ และใช้ประโยชน์จากจุดที่ตั้งและความใกล้ชิดทางสังคมและวัฒนธรรมในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจโตเร็วอย่างจีนและอินเดีย และสามารถลดช่องว่างระหว่างอาเซียนเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

1.6 รับทราบความก้าวหน้าของความช่วยเหลือจากองค์กรและประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ การพัฒนามากกว่า 32 องค์กร ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

2. ผลการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรี (Ministerial Retreat) รัฐมนตรี GMS ได้มีการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ รัฐมนตรีแผนงาน GMS ผู้ประสานงานของแผนงาน GMS และผู้แทนหน่วยงานหลักของแผนงาน GMS ของแต่ละประเทศ รวม 16 คน ซึ่งผลการประชุมหารือสรุปได้ดังนี้

2.1 การเร่งรัดการอำนวยความสะดวกความตกลงขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) และมาตรการด้านการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งที่เกี่ยวข้อง

2.2 วิสัยทัศน์การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายหลังปี 2555 (GMS 2012) ที่ประชุมมีมติ มอบหมายเจ้าหน้าที่อาวุโส (ผู้ประสานงานแผนงาน GMS) รับไปดำเนินการ

3. ผลการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างไทย-กัมพูชา คณะผู้แทนไทยและกัมพูชาได้มีการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการเรื่องการเริ่มปฏิบัติตามความตกลง CBTA ณ ด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 โดยผลการประชุมหารือได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะเริ่มประชุมหารือในรายละเอียด และขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียช่วยเตรียมข้อมูลและประสานกำหนดวันเวลาการหารือระหว่างไทย-กัมพูชาโดยเร็ว และเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าให้ชะลอประเด็นเรื่องที่กัมพูชาเสนอขอเปิดจุดที่ตั้งด่านพรมแดนแห่งใหม่บริเวณด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต ไว้ก่อน

4. ข้อเสนอของฝ่ายไทยในการประชุม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) ได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีแผนงาน GMS ดังนี้

4.1 ยืนยันการสนับสนุนของรัฐบาลไทยในการดำเนินงานแผนงาน GMS อย่างต่อเนื่อง

4.2 ไทยจะเร่งผลักดันการดำเนินงาน CBTA ในส่วนของไทยให้เกิดผลโดยเร็ว

4.3 เสนอการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ-คุนหมิง ตามแผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิงของอาเซียน

4.4 ขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียให้ความช่วยเหลือจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ของ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS’s SME Development Fund)

5. ข้อเสนอแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนแผนงาน GMS

5.1 การเตรียมการจังหวัดที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือผู้ว่าราชการจังหวัดตาม แนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (Governors’ Forum) และการประชุมเวทีขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Corridor Forum-ECF) ซึ่งกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 2552 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยในส่วนของไทยจะมีการจัดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสร้างความเข้าใจในกรอบแผนงาน GMS และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ มี สศช. และกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

5.2 การเร่งรัดการดำเนินงานตามความตกลงขนส่งข้ามพรมแดน (Cross Border Transpot Agreement -CBTA) ประกอบด้วย

5.2.1 เร่งรัดการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ณ ด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต ภายในปี 2552

5.2.2 การเริ่มดำเนินงานเจรจาการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทย-ลาว-จีน ภายในปี 2552

5.2.3 ให้สัตยาบันพิธีสารและภาคผนวกแนบท้าย ทั้งนี้ โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

5.3 การผลักดันการดำเนินงานระบบศุลกากรผ่านแดน (Customs Transit System-CTS)ตาม แนว EWEC ระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม และขยายการดำเนินงานไปยังประเทศสมาชิกอื่น โดยมีกรมศุลกากรและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

5.4 การพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนของอนุภูมิภาคตามแนวทางการดำเนินงานด้านการ ลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ