สรุปผลการประชุม ASEM Ministerial Conference on Energy Security ณ กรุงบรัสเซลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 22, 2009 14:17 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปผลการประชุม ASEM Ministerial Conference on Energy Security ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม

และ Towards An Integrated Energy Agenda Beyond 2020 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุม ASEM Ministerial Conference on Energy Security ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม และ Towards An Integrated Energy Agenda Beyond 2020 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพลังงานรายงานว่า

1. คณะของกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมในหัวข้อ ASEM Ministerial Conference on Energy Security ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม และ Towards An Integrated Energy Agenda Beyond 2020 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ในระหว่างวันที่ 18-22 มิถุนายน 2552 ตามคำเชิญของ European Commission และเลขาธิการองค์การการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization — UNIDO) ตามลำดับ พร้อมทั้งได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการกับเลขาธิการโอเปค (ฯพณฯอับดุลรา ซาเล็ม อัลบารี) ในวันที่ 22 มิถุนายน 2552

2. สรุปผลการประชุมฯ ได้ดังนี้

2.1 การประชุม ASEM Ministerial Conference on Energy Security

ที่ประชุมได้มีข้อคิดเห็นร่วมกันว่าราคาพลังงานที่ผันผวนในตลาดโลกและพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจถือเป็นข้อกังวลร่วมกันของประเทศสมาชิก ASEM ดังนั้น การเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานในเวทีระหว่างประเทศเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการส่งเสริมให้เกิดการกระจายแหล่ง เชื้อเพลิง การขนส่งพลังงานที่ปลอดภัย กลไกการบริหารจัดการการสำรองน้ำมัน ตลอดจนการใช้พลังงานที่ยั่งยืนในบริบทของ low-carbon technology

2.2 การประชุม Towards An Integrated Energy Agenda Beyond 2020

การประชุมในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงอันมุ่งมั่นที่จะวางแนวทางไปสู่ระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมสีเขียว และปูทางไปสู่ข้อตกลงในการประชุมของ United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาด้าน Climate Change และ Low Carbon Economy ในปี 2020 นั้น จะมุ่งเน้น 2 แนวทาง คือ นโยบายที่ยั่งยืนและการลงทุนสีเขียว ทั้งนี้ ต้องอาศัยแนวทางการบูรณาการผสมผสานกับแนวทางการพัฒนาพลังงานระหว่างประเทศเป็นพื้นฐาน และจะปูทางไปสู่ “วาระพลังงานใหม่ “(New Energy Agenda)” ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทางหลัก คือ

2.2.1 พลังงานเพื่อการพัฒนา (Energy for Development)

2.2.2 การเพิ่มพูนการลงทุนด้านพลังงาน (Greater Energy Investment)

2.2.3 พลังงานและการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ (Energy and Climate Change)

2.2.4 เพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน (Public Private Partnership)

2.3 ทัศนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพลังงานในอนาคต

พลังงานยังคงเป็นสิ่งที่ขาดหายจากเป้าหมายแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Millenniums Development Goals) เนื่องจากการเข้าถึงแหล่งพลังงานสำหรับคนยากจนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นพื้นฐานของการขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไปอย่างยั่งยืน

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีโอกาสเข้าพบหารือข้อราชการกับเลขาธิการโอเปคเกี่ยวกับ สถานการณ์ราคาน้ำมันและทิศทางในอนาคต รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง ASEAN และโอเปค ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวอาจสามารถจัดขึ้นในรูปแบบของการฝึกอบรมและจัดสัมมนาร่วมกันในโอกาสนี้ เลขาธิการโอเปคได้กล่าวแสดงความชื่นชมบทบาทของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน และตอบรับ ในหลักการความร่วมมือดังกล่าวของไทย โดยขอให้ทางฝ่ายไทยเป็นผู้ประสานงานในฝ่าย ASEAN และสำนักงานเลขาธิการโอเปคจะประสานงานกับกลุ่มสมาชิกเพื่อพิจารณาในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ