มาตรการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2009 13:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ (มาตรการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลก) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. กรมสรรพากรได้มีมาตรการภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 311) พ.ศ. 2540 โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าหรือการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก อัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่ เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณเพื่อใช้ในการผลิตอัญมณีที่เป็นเครื่องประดับหรือของใช้ใด ๆ ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้แจ้งการประกอบกิจการต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบแจ้งการประกอบกิจการนำเข้าหรือขายอัญมณีฯ (ภ.พ. 01.5)

2. ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนวัตถุดิบอัญมณีประเภทพลอยก้อนและมีความจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ที่นำเข้าวัตถุดิบอัญมณีประเภทพลอยก้อนจะเป็นชาวต่างประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 311) พ.ศ. 2540 ได้ จึงส่งผลให้วัตถุดิบอัญมณีฯ เคลื่อนย้ายไปยังประเทศอื่นที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบอัญมณีฯ ดังกล่าว

3. กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าหรือการขายอัญมณีประเภทพลอยก้อนที่ยังไม่ได้เจียระไน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการไหลเข้ามาซึ่งวัตถุดิบอัญมณีประเภทพลอยก้อนที่ยังไม่ได้เจียระไนจากต่างประเทศที่จะนำเข้ามาป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของไทย อันจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและส่งออกได้มากขึ้น และก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีของโลก และสมควรกำหนดให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน กรณีการจ่ายเงินได้จากการซื้อ อัญมณีที่ยังไม่ได้ผ่านการเจียระไนและยังไมได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณเพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีและรัฐสามารถควบคุม ตรวจสอบการเสียภาษีของผู้มีเงินได้ให้ถูกต้องครบถ้วน อันจะทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

4. ในส่วนของผลกระทบต่อรายได้จากจัดเก็บภาษีนั้น คาดว่าจะทำให้รายได้ภาษีอากรลดลงบ้าง แต่จากการไหลเข้ามาซึ่งวัตถุดิบอัญมณีฯ จากต่างประเทศ จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น

จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้ามาเพื่อขายหรือการขายอัญมณีประเภทพลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกันเฉพาะที่ยังไม่ได้ผ่านการเจียระไน แต่ไม่ร่วมถึงเพชร ไข่มุก และสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่ ทั้งนี้ เฉพาะผู้นำเข้าหรือผู้ขายที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งนำเข้าหรือขายตั้งแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินจากการขายอัญมณีประเภทพลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะที่ยังไม่ได้ผ่านการเจียระไน แต่ไม่รวมถึงเพชร ไข่มุก และสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่ และได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้วตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ ในอัตราร้อยละ 1.0 ของเงินได้พึงประเมิน เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขาย อัญมณีดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

3. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ เพื่อกำหนดให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการซื้ออัญมณีประเภทพลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะที่ยังไม่ได้ผ่านการเจียระไน แต่ไม่รวมถึงเพชร ไข่มุกและสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ