ขอความเห็นชอบให้กรมประมงเป็น Competent Authority ในการรับรองสัตว์น้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2009 13:32 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบให้กรมประมงเป็น Competent Authority ในการรับรองสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่ได้

จากการทำประมงที่ไม่ใช่ IUU Fishing ส่งไปยังประชาคมยุโรป

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมประมงเป็นหน่วยงาน Competent Authority ในการรับรองสัตว์น้ำและ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำประมงที่ไม่ใช่ IUU Fishing ส่งไปยังประชาคมยุโรป เพื่อมีอำนาจดำเนินการให้เป็นไปตาม กฎระเบียบสหภาพยุโรปฉบับที่ 1005/2008 ลงวันที่ 28 กันยายน 2551 เพื่อแจ้งต่อสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการภายในเดือนกรกฎาคม 2552 ต่อไป ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. สืบเนื่องจากทั่วโลกได้ตระหนักและมีความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมของโลก เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน อันจะมีผลสืบเนื่องไปถึงความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรของโลก องค์การระหว่างประเทศหลายหน่วยงานจึงได้เริ่มเรียกร้องให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม องค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นองค์การหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้กำหนดแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศ (International Plan of Action : IPOA) ในเรื่องต่าง ๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่ IPOA for Reduction Incidental Catch of Sea Birds in Longline Fisheries (IPOA-Sea birds), IPOA for Conservation and Management of Sharks (IPOA-sharks), IPOA of Management for Fishing Capacity (IPOA-Capacity) และ IPOA to prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing (IPOA-IUU) ก็เป็นแผนปฏิบัติการหนึ่งที่ FAO ได้กำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งแผนปฏิบัติการเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องมือให้แก่ทุกประเทศในโลกได้นำไปใช้ปฏิบัติในประเทศและภูมิภาคของตน ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ได้พิจารณานำไปปรับใช้ในระดับภูมิภาคและประเทศของตนบ้างแล้ว สำหรับประเทศไทยยังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อจัดทำ IPOA-IUU แต่ยังไม่แล้วเสร็จ

2. IPOA-IUU เป็นแผนปฏิบัติการให้แก่ทุกรัฐและทุกประเทศนำไปปรับใช้บนพื้นฐานความสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันต่อต้านและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม โดยกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสให้แต่ละประเทศรวมทั้งองค์การบริหารจัดการประมงในภูมิภาคต่างๆ นำไปปฏิบัติมาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นภายใต้แผนปฏิบัติการนี้ มุ่งเน้นในเรื่องมาตรการสำหรับรัฐเจ้าของธง (Flag State Measures) รัฐท่าเรือ (Port State Measures) รัฐชายฝั่งเจ้าของทรัพยากร (Coastal State Measures) มาตรการที่เกี่ยวข้องในด้านการค้าระหว่างประเทศ (Internationally Agreed Marketing-Related Measures)

3. ประชาคมยุโรปได้สนับสนุนมาตรการต่างๆ ของ IPOA-IUU นี้จนปัจจุบันพบว่าการป้องกัน การยับยั้งและการขจัด IUU Fishing โดยมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการ Flag State, Port State และ Coastal State ดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นการดำเนินการตามความสมัครใจ ปัจจุบันการทำประมง IUU ยังคงมีอยู่และมีการค้าขายสินค้าประมงที่ได้จากการประมง IUU อยู่ทั่วโลก สหภาพยุโรปจึงได้นำมาตรการทางด้านการค้ามาเป็นเครื่องมือในการควบคุมสินค้าประมง IUU ไม่ให้เข้าสู่ตลาดประชาคมยุโรป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าประมงโลก อันจะเป็นการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการประมง IUU ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อประเทศต่าง ๆ มีการบริหารจัดการการทำประมงให้ถูกต้อง และมีระบบการตรวจสอบและควบคุมการทำประมงของตน ระบบนี้จะขยายและช่วยป้องกัน และกำจัดการประมง IUU ให้หมดไปได้

4. การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม (Illegal,Unreported and Unregulated (IUU) Fishing) ถือเป็นภัยร้ายแรงต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเล คณะกรรมาธิการยุโรปได้พยายามต่อสู้กับการประมงแบบ IUU fishing มาเป็นเวลานาน แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ สถิติโดยภาพรวมแสดงให้เห็นว่าการทำประมงแบบ IUU ทั่วโลก มีมูลค่าถึงประมาณ 10,000 ล้านยูโร/ปี ซึ่งสามารถทำให้นับได้ว่าการทำประมง IUU เป็นผู้ผลิตสินค้าประมงที่มากเป็นอันดับสองของโลก ประชาคมยุโรปเป็นผู้นำเข้าสินค้าประมงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วย โดยในปี 2550 ประชาคมยุโรปนำเข้าสินค้าประมงเกือบ 16,000 ล้านยูโร จะเห็นได้ว่าประชาคมยุโรปเป็นตลาดที่ดึงดูดต่อผู้ทำประมงแบบ IUU เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกลไกการควบคุมการผลิตบนพื้นฐานของระบบตรวจสอบย้อนกลับ ดังนั้น ผลผลิตที่ได้จากการทำประมง IUU จึงสามารถเข้าสู่ตลาดแบบถูกต้องได้อย่างง่ายดาย

5. สหภาพยุโรปมุ่งเน้นที่จะลดปริมาณการลักลอบจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายในน่านน้ำต่าง ๆ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเห็นว่าการนำเข้าสัตว์น้ำจากการทำประมง IUU เป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม และควรระงับการค้าจากแหล่งดังกล่าว สหภาพยุโรปโดยคณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้ออกกฎระเบียบฉบับใหม่ว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้งและขจัดการประมงที่ผิดกฎหมายไม่รายงานและไร้การควบคุม ฉบับที่ 1005/2008 ลงวันที่ 29 กันยายน 2551 (Council Regulation No 1005/2008 of 29 September 2008 Establishing a Community System to prevent,deter and eliminate illegal, unreported and unregulated (IUU) Fishing) เพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย โดยประสงค์ใช้บังคับกับประเทศสมาชิกในประชาคมยุโรปและประเทศ อื่น ๆ ทั่วโลก กำหนดจะบังคับใช้ระเบียบฉบับใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ระเบียยสหภาพยุโรปดังกล่าวมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังประชาคมยุโรป โดยประเทศหรือรัฐเจ้าของธงเรือประมงต้องออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำว่าเพื่อยืนยันว่าสัตว์น้ำไม่ได้มาจากการทำประมง IUU และสินค้าประมงที่ส่งออกไปยังประชาคมยุโรปจะต้องแนบเอกสารใบรับรองการจับสัตว์น้ำดังกล่าวประกอบการส่งออกด้วย

6. กฎระเบียบใหม่กำหนดให้สินค้าประมงที่ส่งออกไปยังประชาคมยุโรปต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำประกอบการส่งออกเพื่อยืนยันว่าสินค้าประมงดังกล่าว มิได้มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) และระบุให้ประเทศหรือรัฐเจ้าของธงที่มีเรือประมงแต่งตั้งหน่วยงาน Competent Authority ในการรับรองสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำประมงที่ไม่ใช่ IUU Fishing ส่งไปยังประชาคมยุโรป โดยขอให้แจ้งชื่อและรายละเอียดหน่วยงาน Competent Authority ของตนให้คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปทราบภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 เพื่อประกาศแจ้งให้ประเทศต่างๆ ทราบต่อไป โดยหน่วยงาน Competent Authority ควรได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการ ดังนี้

6.1 รับจดทะเบียนเรือประมงที่ใช้ธงรัฐตน

6.2 พักและถอนใบอนุญาตจับสัตว์น้ำแก่เรือประมงของรัฐตน

6.3 ออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำและตรวจรับรองความถูกต้องของใบรับรองดังกล่าว

6.4 ดำเนินการ ควบคุมและบังคับใช้กฎหมายและมาตรการอนุรักษ์และการจัดการซึ่งเรือประมงของรัฐตนปฏิบัติ

6.5 ดำเนินการตรวจพิสูจน์ความถูกต้องของใบรับรองการจับสัตว์น้ำเพื่อช่วยหน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐสมาชิก

6.6 แจ้งแบบเอกสารใบรับรองการจับสัตว์น้ำ

6.7 ปรับปรุงข้อมูลที่แจ้งให้เป็นปัจจุบัน

7. ปัจจุบันตลาดหลักผู้นำเข้าสินค้าประมงของไทยได้แก่ สหรัฐอเมริกา ประเทศในประชาคมยุโรป (27 ประเทศ) และประเทศญี่ปุ่น โดยในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าประมงไปประชาคมยุโรปเป็นมูลค่า 36,232.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.69 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 สินค้าประมงส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง กุ้งและผลิตภัณฑ์ หมึกสดและหมึกแปรรูป ดังนั้นเมื่อสหภาพยุโรปออกกฎระเบียบใหม่โดยประสงค์ใช้บังคับกับประเทศสมาชิกในประชาคมยุโรปและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ดังนั้น เพื่อมิให้การส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังประชาคมยุโรปดังกล่าวหยุดชะงักหรือได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎระเบียบสหภาพยุโรปฉบับนี้ ประเทศไทยควรต้องดำเนินมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการรองรับกฎระเบียบดังกล่าว เพื่อรักษาปริมาณการส่งออกสินค้าประมงไปประชาคมยุโรปไว้มิให้ลดลง

8. กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลด้านการทำประมงของประเทศไทย โดยมีภารกิจในด้านการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมง ควบคุมการทำประมงและการผลิตสัตว์น้ำ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนที่เอื้อต่อการทำหน้าที่ Competent Authority สำหรับกฎระเบียบฉบับนี้แม้ในกิจกรรมบางขั้นตอนตั้งแต่การจับสัตว์น้ำตลอดจนถึงการส่งออกสินค้าไปยังประชาคมยุโรปจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการอื่นๆ อาทิ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการจดทะเบียนเรือประมง กรมศุลกากร ซึ่งเกี่ยวข้องในการนำเข้าและส่งออกสินค้าประมง รวมทั้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหรือกรมการค้าต่างประเทศซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องการตลาดและการรับรองแหล่งผลิตก็ตาม กรมประมงสามารถประสานงานและบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานเหล่านี้เช่นที่ได้ปฏิบัติตลอดมาเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามระเบียบสหภาพยุโรปฉบับนี้กำหนด นอกจากนี้ในด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานสินค้าประมงให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาดโลก กรมประมงได้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต การตรวจวิเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพ ควบคุมตรวจสอบดูแลความปลอดภัยตั้งแต่การผลิตถึงการส่งออกตามมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้นำเข้าทั่วโลก ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้เคยเห็นชอบให้กรมประมงเป็นหน่วยงาน Competent Authority หน่วยงานเดียวของไทยในการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสินค้าประมงส่งออกไปประชาคมยุโรป ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ดูแลรับผิดชอบสินค้าเกษตร (รวมทั้งสินค้าประมง) ส่งออกไปต่างประเทศทั้งหมด และให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลรับผิดชอบสินค้าเกษตรสำหรับตลาดภายในประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ