คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปผลการดำเนินการป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ที่ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการไปแล้วและผลการประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตามที่นายกรัฐมนตรีมีบัญชา ดังนี้
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด/ผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ตามกฏหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ระดับจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด/ผอ.สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เป็นเลขานุการศูนย์ฯ ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา
2. ให้ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เผยแพร่และประชาสัมพันธ์คำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ตามแนวทางคำแนะนำ ของกระทรวงสาธารณสุข
3. ให้ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และมาตรการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่พบการแพร่เชื้อในประเทศ(สถานการณ์ B) ใน 4 ประเด็นหลัก คือ
1) การซักซ้อมความพร้อม ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน
2) ใช้มาตรการด้านชุมชนและสังคม โดยให้ความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมพฤติกรรมป้องกันโรคและวิธีปฏิบัติตนเอง เช่น การล้างมือ การใช้หน้ากากอนามัย การไอ/จามอย่างถูกวิธี ดูแลตนเองหรือสมาชิกครอบครัว
3) เฝ้าระวังตรวจหาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วหากมีการระบาดขึ้นจะต้องควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดยให้ผู้ป่วยหยุดเรียน/หยุดงาน หากมีเป็นจำนวนมากให้ปิดโรงเรียน/สถานที่ทำงาน และงดกิจกรรมการชุมนุม
4) แสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อรณรงค์ป้องกันควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่
4. แจ้งเวียนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทุกจังหวัด กรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
5. แจ้งแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ในปัญหาสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2552 ได้แก่
(1) การระบาดในโรงเรียนสถานศึกษาให้ทำความเข้าใจกับโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค แนวทางพิจารณาการปิดโรงเรียนที่เหมาะสมและส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคในโรงเรียน
(2) การแพร่โรคจากสถานบันเทิง ผับ(Pub) สถานที่ท่องเที่ยวให้แนะนำ ควบคุม สถานประกอบการให้จัดมาตรการป้องกันโรคและแนะนำการป้องกันโรคแก่นักท่องเที่ยว
(3) การระบาดในค่ายทหาร (รวมทั้งที่พัก ตำรวจ) ให้จัดมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคในค่ายทหาร และจัดบริการดูแลรักษา
(4) การระบาดในโรงงาน สถานประกอบการ ให้จัดมาตรการป้องกันโรคในโรงงาน และสถานประกอบการ และส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรค
(5) ประชาชนทั่วไปยังสับสน พฤติกรรมการป้องกันโรคยังไม่แพร่หลาย ให้จัดทำยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ ขยายการเผยแพร่ แนะนำประชาชนและส่งเสริมพฤติกรรมป้องกันโรค ผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
6. ให้ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ปรับยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาการระบาดฯ ตามมติคณะกรรมการอำนวยการ ฯ ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อในประเทศได้ขยายวงกว้างจำเป็นที่ต้องปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานให้สอดคล้องตามสถานการณ์ใน 3 ประเด็นหลัก คือ (1) การดูแลรักษาผู้ป่วย (2) การป้องกันการแพร่ระบาดโรค (3) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
7. กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี จัดให้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบ VDO Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมกระทรวงมหาดไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองกระทรวง โดยได้ประชุมมอบนโยบายในการเร่งรัดการป้องกันและควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการในระยะนี้ ให้ทุกจังหวัดถือปฏิบัติ ดังนี้
1) ให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขานุการศูนย์ฯ มีการปฏิบัติงานอย่างจริงจังในลักษณะ WAR ROOM โดยมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการที่กำหนดได้แก่ (1) การดูแลรักษาผู้ป่วย (2) การป้องกันการแพร่ระบาดโรค (3) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องชะลอการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ให้ช้าลง และให้อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้
2) ให้ทุกจังหวัดใช้สื่อทุกแขนงในพื้นที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์คำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนในการป้องกันตนเองและลดการแพร่กระจายของเชื้อตามแนวทางคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
3) การจัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมคนเป็นจำนวนมาก หากพบว่าทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขอให้พิจารณางดการจัดกิจกรรมดังกล่าว
4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมพฤติกรรมป้องกันโรค เช่น การให้กลุ่มแม่บ้านโอท็อปผลิตผ้าหน้ากากอนามัย สำหรับแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ การเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน ตลอดจนการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เพื่อควบคุมดูแลและรักษาความสะอาดของสถานประกอบกิจการต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 --จบ--