การเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 และ AWG-KP ครั้งที่ 9 (Bangkok Climate Change Talks 2009)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2009 14:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 และ AWG-KP ครั้งที่ 9 (Bangkok Climate Change Talks 2009) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพมหานครในระหว่างวันที่ 28 กันยายน-9 ตุลาคม 2552 โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมในวันแรก

2. อนุมัติวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,000,000 บาท จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมดังกล่าว โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมจัดทำประมาณการรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนและขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกซึ่งนานาประเทศต่างตระหนักและ ให้ความสำคัญ ได้มีการกำหนดกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการสร้างความร่วมมือจากนานาชาติในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายในการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงด้านการผลิตอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษยชาติ ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความจำเป็นในการเข้าร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ต่อมาในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ (Conference of the Parties : COP) สมัยที่ 3 ในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ.1997) ณ กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อพิธีสารเกียวโต ซึ่งได้กำหนดแนวทางความรับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยกำหนดพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับกลุ่มประเทศในภาคผนวก ที่ 1 (Annex I Countries) อันได้แก่ ประเทศพัฒนาแล้วหรืออยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศพัฒนาแล้ว และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากในอดีต สำหรับประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I Countries) จึงไม่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการร่วมมือกับประชาคมโลกในการลดก๊าซเรือนกระจกตามขีดความสามารถด้วยความสมัครใจ

2. ตามมติที่ 1 ของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 13 (COP13) ในระหว่างวันที่ 3-14 ธันวาคม 2550 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการบาหลี (Bali Action Plan) ซึ่งกำหนดให้มีการเจรจาของคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญา (Ad Hoc Working Group on Long-term Cooperation Action under the Convention : AWG-LCA) และ การเจรจาของคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยพันธกรณีต่อเนื่องสำหรับประเทศไทยในภาคผนวกที่ 1 ภายใต้พิธีสารเกียวโต (Ad Hoc Working Group on Further Commitment for Annex I Parties under the Kyoto Protocol : AWG-KP) โดยเป็นการเจรจาคู่ขนานกันไปในระยะเวลา 2 ปี คือ ปี พ.ศ. 2551 และ 2552 เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) ในประเด็นที่สำคัญได้แก่ เป้าหมายและลักษณะของพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว กลไกทางการเงินที่เหมาะสมในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ การลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกลไกที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาด้านการปรับตัวและการลดก๊าซเรือนกระจก

3. ในปี พ.ศ. 2551 AWG-LCA และ AWG-KP ได้จัดประชุมเจรจาไปแล้ว 4 ครั้ง ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 14 (COP14) เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ประชุมได้มีมติรับรองแผนงานประจำปี 2009 (พ.ศ.2552) ของ AWG-LCA และ AWG-KP โดยจะมีการจัดประชุมเจรจา 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 3/2552 AWG-LCA7/AWG-KP9 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 กันยายน — 9 ตุลาคม 2552 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

4. Mr.Yvo de Boer ตำแหน่ง Executive Secretary ของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ได้เข้าหารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระหว่างการประชุม The Ministerial Conference on Global Environment and Energy in Transport กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-16 มกราคม 2552 เพื่อขอให้ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 และ AWG-KP ครั้งที่ 9 (Bangkok Climate Change Talks 2009) โดยคาดว่าจะมีคณะผู้แทนจากรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ เข้าร่วมประชุมประมาณ 2,000-2,500 คน

5. สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 และ AWG-KP ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 9 ตุลาคม 2552 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (ถนนราชดำเนินนอก) กรุงเทพฯ โดยการประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 ประกอบด้วยประเด็นเจรจารวม 5 ประเด็น และการประชุม AWG-KP ครั้งที่ 9 ประกอบด้วยประเด็นเจรจารวม 7 ประเด็น

6. สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ มีงบประมาณในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมฯ ทั้งหมด โดยขอให้ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินการจัดประชุมฯ ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ คือ การเชิญนายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม การเป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรอง (Reception Dinner) แก่ผู้เข้าร่วมประชุม การอำนวยความสะดวกเรื่องหนังสือตรวจลงตราเข้าประเทศ (Entry Visa) และการตรวจคนเข้าเมือง และการอำนวยความสะดวกด้าน Logistics อื่น ๆ

7. คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องการเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม The 7th Session of the Ad Hoc Working Group on Long-term Cooperation Action under the Convention (AWG-LCA) and the 9th Session of the Ad Hoc Working Group on Further Commitment for Annex I Parties under the Kyoto Protocol (AWG-KP) แล้วมีมติเห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 และ AWG-KP ครั้งที่ 9 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 28 กันยายน-9 ตุลาคม 2552 โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมในวันแรก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ