คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 3 ตรี แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษา วิชาการทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2533 และความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษา วิชาการทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2513 ตามความเห็นของกระทรวงกลาโหม แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ผู้สำเร็จวิชาการทหารจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนแผนที่ ตามหลักสูตรที่สภาการศึกษาวิชาการทหารฯ กำหนด ได้รับปริญญาในสาขาที่มีการสอนนั้น โดยปริญญามีสามชั้น คือ ปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี และกำหนดอักษรย่อของสาขาวิชาที่มีการสอนในสถาบันการศึกษานั้น (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดให้สภาการศึกษาวิชาการทหารอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือประกาศนียบัตรได้ และให้สภาการศึกษาวิชาการทหารมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 4 และร่างมาตรา 5)
3. กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสภาการศึกษาวิชาการทหารผู้ทรงคุณวุฒิ (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)
4. กำหนดให้เพิ่มเติมตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำของสถาบันการศึกษา และให้สภาการศึกษาวิชาการทหารเป็นผู้ออกข้อบังคับของสภาการศึกษาวิชาการทหารเพื่อกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนคณาจารย์ประจำ ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษได้ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าวเป็นคำนำหน้านามเพื่อแสดงวิทยฐานะได้ตลอดไป (ร่างมาตรา 7)
5. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษแก่ผู้ใช้ปริญญา อักษรย่อปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือประกาศนียบัตร โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ (ร่างมาตรา 8)
6. กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับสภาการศึกษาวิชาการทหารที่ได้แต่งตั้งขึ้นก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ (ร่างมาตรา 9)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--