ร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2009 13:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556

2. ให้ทุกกระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำและ/หรือปรับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของหน่วยงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ (ฉบับที่ 2)

3. มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวง ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กทสช.) รับผิดชอบการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และเป็นหน่วยงานประสานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณรองรับแผนแม่บทฯ (ฉบับที่ 2) รวมถึงการติดตามประเมินผลเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป

4. ให้หน่วยงานกลางที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรและการบริหารจัดการภาครัฐ (สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) นำแผนแม่บทฯ (ฉบับที่ 2) มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการ ปรับปรุงโครงสร้าง และจัดสรรทรัพยากรทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสารของประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาของแผนแม่บทฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552-2556 ต่อไป

สรุปสาระสำคัญของแผนแม่บทฯ ได้ดังนี้

1. วิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand)

2. พันธกิจ พัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ พัฒนาโครงข่ายสารสนเทศและ การสื่อสารความเร็วสูง พัฒนาระบบบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล

3. วัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มปริมาณและศักยภาพของกำลังคน เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและปัจเจกบุคคล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

4. เป้าหมาย

  • ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศมีความรอบรู้ สามารถเข้าถึงสร้างสรรค์และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณ รู้เท่าทัน มีคุณธรรมและจริยธรรรม ก่อเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้การทำงานและการดำรงชีวิตประจำวัน
  • ยกระดับความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ โดยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงสุด ร้อยละ 25 (Top Quartile) ของประเทศที่มีการจัดลำดับทั้งหมดใน Networked Readiness Index
  • เพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามแผนแม่บทฯ (ฉบับที่ 2) มี 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนากำลังคนด้าน ICT และบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการ ICT ของประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล (National ICT Governance)
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารและบริการของภาครัฐ (e-Governance)
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556 เป็นแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ซึ่งมีความต่อเนื่องของนโยบาย จากนโยบาย IT 2010 และแผนแม่บทฯ (ฉบับที่ 1) ควบคู่กับการกำหนดนโยบายใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและเครื่องมือในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นการแสดงเจตนารมณ์และทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐบาลที่ชัดเจน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ