คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินงานตามโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ในวงเงิน 1,655 ล้านบาท (โดยใช้เงินกู้ในประเทศ 1,240 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. 415 ล้านบาท) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพลังงาน ไปประกอบการพิจารณาด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า กฟภ. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ซึ่งโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กฟภ. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) แล้ว พร้อมทั้งได้นำเสนอโครงการฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งรายละเอียดของโครงการฯ สรุปได้ดังนี้
1. ชื่อโครงการ โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร (Agriculture Electrification Project)
2. ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2551-2554
3. หน่วยงานรับผิดชอบ : กฟภ.
4. วัตถุประสงค์ เพื่อจัดหาบริการไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร เป็นการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรให้สามารถใช้ไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรช่วยลดต้นทุนการผลิต เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงของครัวเรือนเกษตรกรพื้นฐาน ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาชนบท
5. พื้นที่ดำเนินการ ดำเนินการในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ กฟภ. ทั่วประเทศ (12 การไฟฟ้าเขต)
6. ขอบเขตงาน (1) ก่อสร้างระบบจำหน่ายแรงสูง 22 และ 33 กิโลโวลท์ (2) ติดตั้งหม้อแปลงระบบจำหน่ายขนาด 30 กิโลโวลท์-แอมป์ และ 50 กิโลโวลท์-แอมป์ ตามความเหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ (3) ก่อสร้างระบบจำหน่ายแรงต่ำ 1 เฟส หรือ 3 เฟส (4) ติดตั้งมิเตอร์ให้กับเกษตรกรที่ขอขยายเขตไฟฟ้าเพื่อใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ทำกินทางการเกษตร
7. เป้าหมาย ขยายเขตจำหน่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่ทำกินทางการเกษตรของเกษตรกร จำนวน 30,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 293,547 ไร่
8. ปริมาณงาน การกระจายจำนวนครัวเรือนและปริมาณงานที่จะดำเนินการในแต่ละภาค ดังนี้
รายการ การไฟฟ้าภาค รวม เหนือ ตะวันออก กลาง ใต้
เฉียงเหนือ
จำนวนครัวเรือน 7,436 13,124 4,290 5,150 30,000 ระบบจำหน่ายแรงสูง 620 1,094 357 429 2,500 (วงจร-กิโลเมตร) ระบบจำหน่ายแรงต่ำ 817 1,444 472 567 3,300 (วงจร-กิโลเมตร) จำนวนหม้อแปลง 18,590 32,820 10,730 12,860 75,000 (กิโลโวลท์-แอมป์) จำนวนมิเตอร์ (เครื่อง) 7,436 13,124 4,290 5,150 30,000
9. เงินลงทุนและแหล่งเงินทุน
เงินลงทุน จำนวน แหล่งเงินทุน จำนวน (แยกตามรายภาค) (ล้านบาท) (ล้านบาท) ภาคเหนือ 410 เงินกู้ในประเทศ 1,240 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 714 เงินรายได้ กฟภ. 415 ภาคกลาง 237 ภาคใต้ 284 รวม 1,655 รวม 1,655
10. การกำหนดจำนวนครัวเรือนและการคัดเลือกครัวเรือนที่จะดำเนินการตามโครงการ
(1) การกำหนดจำนวนครัวเรือน :
- กำหนดจำนวนครัวเรือนตามสัดส่วนเนื้อที่ถือครองทางการเกษตรของแต่ละการไฟฟ้า โดยให้แต่ละเขตมีการจำแนกจำนวนครัวเรือนตามเนื้อที่ทางการเกษตรที่ใช้ปลูกพืชหลัก 5 ชนิด ได้แก่ พื้นที่นา พื้นที่ปลูกพืชไร่ พื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น พื้นที่ปลูกพืชผัก และพื้นที่การเกษตรอื่นๆ
- เกณฑ์จัดสรรงบประมาณจำนวน 1,655 ล้านบาท โดยให้ในแต่ละเขตการไฟฟ้าได้รับงบประมาณตามสัดส่วนของเนื้อที่ถือครองทางการเกษตร
- กรอบระยะเวลาของการดำเนินงาน 4 ปี
- จำนวนครัวเรือนที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตรจำแนกตามการไฟฟ้าเขตและกิจกรรมทางการเกษตร รวมทั้งสิ้น 30,000 ครัวเรือน
(2) ข้อกำหนดการคัดเลือกครัวเรือน : ผู้ขอขยายเขตใช้ไฟฟ้าเพื่อการเกษตรจะต้องมีเอกสารสิทธิ์หรือหลักฐานสิทธิ์ทำกินในพื้นที่ทำการเกษตร และได้การรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อยืนยันว่าพื้นที่การเกษตรไม่อยู่ในเขตพื้นที่หวงห้ามใด ๆ ของทางราชการ
11. ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การดำเนินการโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตรจะเป็นการดำเนินงานนอกเขตอุทยานแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือเขตพื้นที่ป่าไม้ โดยการก่อสร้างระบบจำหน่ายจะเป็นการดำเนินงานปักเสาพาดสายไฟฟ้าที่อยู่ในแนวเขตทางสาธารณะ จึงไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--