คณะรัฐมนตรีรับทราบเป้าหมายสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และแนวทางการแยกบัญชี ธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน เฉพาะกิจในการทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. เป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 625,500 ล้านบาท อีก 301,500 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 927,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตารางสรุปการปรับปรุงเป้าการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
SFIs เป้าการอนุมัติ เป้าการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม เป้าการอนุมัติ สินเชื่อเดิม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สินเชื่อใหม่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ 323,000 147,000 470,000 การเกษตร* ธนาคารออมสิน 162,600 80,000 242,600 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 73,500 26,500 100,000 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง 26,000 17,500 43,500 และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า 19,700 17,500 37,200 แห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 20,700 13,000 33,700 รวม 625,500 301,500 927,000 หมายเหตุ * ปีบัญชี ธ.ก.ส. เริ่มวันที่ 1 เมษายน — 31 มีนาคม
กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะเร่งการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มอีก 301,500 ล้านบาท รวมเป็นเป้าการอนุมัติสินเชื่อ 927,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ซึ่งก็จะขยายการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท รวมเป็น 350,000 ล้านบาทนั้น จะสามารถทดแทนการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลงได้อย่างเพียงพอ
2. การแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการกำกับดูแล การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในกลุ่มเป้าหมายที่มีวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม บริการและการส่งออก เป็นต้น หรือด้านสังคม เช่น มีผลช่วยลดปัญหาการว่างงานและปัญหาสังคมต่าง ๆ เป็นต้น โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงินเฉพาะธุรกรรมที่เป็นนโยบายรัฐในจำนวนและรูปแบบที่เหมาะสมและประหยัด จึงเห็นควรให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) ออกจากธุรกรรมเชิงพาณิชย์ โดยมีหลักการที่สำคัญดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการแยกบัญชีฯ
2.1.1 เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถดำเนินงานอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยตนเองในระยะยาว (Self - sustainability) และสามารถดำเนินธุรกรรมนโยบายรัฐเพื่อฟื้นฟูหรือช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงินเฉพาะธุรกรรมที่เป็นนโยบายรัฐในจำนวนและรูปแบบที่เหมาะสมและประหยัด
2.1.2 เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถกำกับ ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจสำหรับการดำเนินธุรกรรมตามนโยบายรัฐและธุรกรรมเชิงพาณิชย์ได้อย่างถูกต้อง
2.2 กรอบในการพิจารณา กรอบในการพิจารณาเลือกธุรกรรมที่เป็นนโยบายรัฐจะต้องครอบคลุมธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
2.2.1 ธุรกรรมมีวัตถุประสงค์และรูปแบบการให้บริการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย หรือการก่อวินาศกรรม ตามคำจำกัดความของพระราชบัญญัติป้องกันฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 หรือ ฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน วิสาหกิจ และหน่วยธุรกิจ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
2.2.2 ธุรกรรมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน หรือธุรกรรมที่รัฐบาลสั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ โดยต้องมีมติคณะรัฐมนตรีระบุให้มีการชดเชยหรือสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ในการดำเนินธุรกรรมตามข้อ 2.2.1 หรือ ข้อ 2.2.2 อาจจำเป็นต้องผ่อนปรนกว่าเกณฑ์ปกติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องประกอบกัน ได้แก่
- อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าเบี้ยประกัน เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด หรือมีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าเบี้ยประกัน
- หลักประกัน เช่น ไม่มีหลักประกัน หรือหลักประกันต่ำกว่าสินเชื่อที่ให้บริการเป็นอย่างมาก
- ระยะเวลา เช่น มีระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ หรือระยะเวลาปลอดการชำระหนี้มากกว่าระยะเวลาที่สถาบันการเงินทั่วไปพึงยึดถือปฏิบัติ ปลอดการชำระเงินต้น
อนึ่ง ในเบื้องต้นการบริหารจัดการธุรกรรมนโยบายรัฐ ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบระมัดระวังเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อภาระงบประมาณ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องจัดให้มีการบริหารความเสี่ยง และมีคู่มือในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหา Moral Hazard และการผิดพลาด
2.3 ขั้นตอน และวิธีการในการผ่อนปรน
2.3.1 โครงการที่จะเข้ารับการพิจารณาให้มีการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ สามารถถูกเสนอได้ 3 วิธี ได้แก่
(1) สถาบันการเงินเฉพาะกิจเสนอโครงการให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี
(2) กระทรวงการคลังพิจารณานำเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบโดยตรง
(3) คณะรัฐมนตรีมีมติให้โครงการหนึ่งโครงการใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นควรให้กระทรวงการคลังพิจารณาเป็นโครงการภายใต้ PSA
2.3.2 ในกรณีที่เป็นการเสนอตามข้อ 2.3.1 (1) กระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการพิจารณาโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (PSA) จะเป็นผู้พิจารณาโครงการและกำหนดมาตรฐานการคำนวณเงินชดเชย และสรุปวงเงินที่ควรได้รับการชดเชยเพื่อประกอบการขอตั้งงบประมาณ รวมถึงแนวทางในการแยกบัญชีและการกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละโครงการ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะต้องนำเสนอกระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ เห็นควรให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และมีผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นเลขานุการ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
2.3.3 เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการที่จะเข้า PSA แล้วสถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้
(1) ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณ
(2) รายงานผลการดำเนินงานตามโครงการธุรกรรมรัฐ ให้คณะกรรมการฯ ทราบเป็นประจำทุกเดือน
2.3.4 วิธีการคำนวณเงินชดเชย
การคำนวณเงินชดเชยกำหนดให้มีวิธีมาตรฐาน 2 วิธี ซึ่งคณะกรรมการฯ จะเลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าวงเงินเพื่อขอชดเชยสำหรับธุรกรรมนโยบายรัฐจะเป็นรูปแบบใดดังนี้
(1) ชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการให้บริการตามนโยบายรัฐที่สูงกว่ารายรับของธุรกรรมนโยบายรัฐนั้น ๆ โดยมีการคำนวณเงินชดเชย ดังนี้
จำนวนเงินชดเชย= ต้นทุนการให้บริการตามนโยบายรัฐ — รายรับของธุรกรรมนโยบายรัฐเงื่อนไขผ่อนปรนที่ต้องดำเนินการ
(2) ชดเชยส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนจากการให้บริการตามมาตรฐานปกติที่สูงกว่าผลตอบแทนของธุรกรรมนโยบายรัฐนั้น ๆ โดยมีการคำนวณเงินชดเชย ดังนี้
จำนวนเงินชดเชย= ผลตอบแทนจากการให้บริการตามปกติ — ผลตอบแทนจากธุรกรรมนโยบายรัฐตามเงื่อนไขผ่อนปรนที่ต้องดำเนินการ
อนึ่ง ขณะนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ทยอยส่งคำขอเพื่อเข้าโครงการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐของสถาบันการเงินเฉพาะกิจมาแล้ว (สถานะ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552) เช่น โครงการของธนาคารอาคารสงเคราะห์ 2 โครงการ คือ โครงการบ้านมั่นคง ซึ่งขอชดเชยส่วนต่างของดอกเบี้ยวงเงินประมาณ 172.5 ล้านบาท และโครงการบ้านเอื้ออาทร ขอชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 3.75 ต่อปี และโครงการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นๆ ซึ่งจะทยอยได้รับการพิจารณาเมื่อคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐแล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--